กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดห้องปฏิบัติการให้บริการสกัด ศึกษาประสิทธิภาพความปลอดภัย ตรวจวิเคราะห์ทดสอบสารสกัดจากกัญชา/กัญชงสำหรับใช้ทางการแพทย์ ครอบคลุม 5 ชนิดตัวอย่าง ได้แก่ พืชกัญชา ตำรับยาแผนไทย น้ำมันกัญชา สารสกัด ผลิตภัณฑ์ยาจากน้ำมันกัญชา หวังสร้างความมั่นคงด้านยา เสริมแกร่งผู้ประกอบการ พัฒนาเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจจากทรัพยากรในประเทศ
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า จากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ สร้างความมั่นคงด้านยาของประเทศ และป้องกันการผูกขาดทางด้านยารวมถึงการพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจจากทรัพยากรที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญนั้น วว. ในฐานะหน่วยงานวิจัยของประเทศในสังกัดกระทรวง อว. มีความเชี่ยวชาญในการตรวจวิเคราะห์ทดสอบสารสำคัญจากพืชสมุนไพร การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสุขภาพจากสารสกัดสมุนไพรที่ตอบโจทย์และได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจประเทศเป็นรูปธรรม
จากความสำคัญของนโยบายรัฐบาลดังกล่าว วว. โดย ห้องปฏิบัติการชีวเคมีและจุลชีววิทยาและห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา ซึ่งดำเนินงานภายใต้ระบบ ISO 17025 เปิดให้บริการวิเคราะห์ทดสอบกัญชา ผลิตภัณฑ์กัญชา ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกัญชา/กัญชงและสารสกัดแคนนาบินอยด์ (Cannabidiol ; CBD) เป็นส่วนประกอบในอาหาร โดยมีรายการทดสอบดังนี้ ปริมาณสารสำคัญ การตรวจเอกลักษณ์ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง โลหะหนัก สารพิษจากเชื้อรา การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ ตัวทำละลายตกค้าง นอกจากนั้น ยังให้บริการวิเคราะห์ทดสอบองค์ประกอบและชนิดของกรดไขมัน โอเมก้า 3 และ 6 ในน้ำมันจากเมล็ดกัญชง โดยขอบข่ายในการให้บริการของ วว. ดำเนินการภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายของประกาศกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งตอบสนองนโยบายรัฐบาลและเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาให้ได้มาตรฐานทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย
ผู้ว่าการ วว. กล่าวต่อว่า นอกจากงานบริการดังกล่าวแล้ว วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้รับอนุญาตจาก อย. ให้ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาได้ โดยใช้เครื่องสกัดที่ทันสมัย ได้แก่ เครื่องสกัดชนิด Phytonics ที่ใช้ตัวทำละลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้เปิดให้บริการวิจัยในการสกัดและศึกษาประสิทธิภาพความปลอดภัยกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด เช่น ส่วนใบ ลำต้น ราก จากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาต และพัฒนาผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วไป ส่วนดอกกัญชาที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 นั้น วว. อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัยด้านการสกัดและตรวจสอบสารสำคัญ ได้แก่ THC, CBD และสารกลุ่มแคนนาบินอยด์อื่นๆ
Discussion about this post