กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลการทดสอบการคงประสิทธิภาพสารฆ่าเชื้อไวรัส-แบคทีเรียจากออร์แกนิคซิงค์ไอออน หลังฉีดพ่นลงบนพื้นผิวยาวนาน 24 ชั่วโมง ตัวช่วยเสริมความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ลดภาระงานเจ้าหน้าที่ ลดต้นทุนการใช้สารฆ่าเชื้อสำหรับอาคารสถานที่ ตอบความต้องการยุควิกฤตโรคระบาด พร้อมจับมือบริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด ส่งมอบสารฆ่าเชื้อไวรัส-แบคทีเรียให้กับโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของคณะเวชศาสตร์เขตร้อนที่เข้ามามีบทบาทในงานวิจัยเรื่องนี้ คือในขณะที่ประเทศไทยมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรค COVID-19 มหาวิทยาลัยมหิดลได้สนับสนุนให้คณะเวชศาสตร์เขตร้อนหารือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อหาแนวทางในการรับมือกับโรค COVID-19 โดยทางมหาวิทยาลัยมหิดล กับ สวทช. ได้มีการลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพและการแพทย์ โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมลงนามไปเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563
ภายใต้การลงนามความร่วมมือในครั้งนั้น ทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อน และ สวทช.ก็ได้มีงานวิจัยที่ดำเนินการร่วมกันมาอีกหลายโครงการ โดยจุดแข็งของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน คือเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีทีมวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวินิจฉัย การรักษา และป้องกันโรค มีห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านโรคเขตร้อน (Tropical Medicine Diagnostic Reference laboratory) หรือ TMDR ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายที่ผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ สำหรับการตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARA-CoV-2) ด้วยวิธี Real time RT-PCR จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการตรวจวินิจฉัย ตรวจยืนยันตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย ผู้สัมผัส และผู้มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ด้วยวิธีการ Real time RT-PCR ตั้งแต่มีการระบาดของโรค
ในขณะที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. มีงานวิจัยหลายด้านที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อการฆ่าเชื้อ ซึ่งสามารถป้องกันการติดต่อของโรคติดเชื้อได้ โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน จึงได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง จนปัจจุบันขยายผลมาสู่การทดสอบประสิทธิภาพการออกฤทธิ์สารฆ่าเชื้อหลังฉีดพ่นลงบนพื้นผิว ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้ได้คือ สารฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่มีองค์ประกอบของออร์แกนิคซิงค์ไอออน และนอกจากนี้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ยังมีงานวิจัยที่กำลังพัฒนาร่วมกับ ศูนย์นาโนเทคอีก เช่น การพัฒนา Negative pressure helmet เป็นต้น จึงถือเป็นโอกาสดีที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน กับ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ จะร่วมมือกันผลิตผลงานวิจัย เพื่อพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรคเขตร้อนอื่น ๆ ตลอดจนโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (Neglected Tropical Diseases: NTDs) ในอนาคต
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมงานวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์นั้น สวทช. มีเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนและเร่งสร้างขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาที่ตอบความต้องการของประเทศด้านระบบสาธารณสุข ได้แก่ นวัตกรรมยา วัคซีน ยาชีววัตถุ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการพัฒนาฐานกำลังบุคลากรและความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทางด้านนี้ ในด้านการวิจัยทางคลินิกและการบริหารจัดการข้อมูลวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งทางด้านสาธารณสุขของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สวทช. ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์สาธารณสุขของประเทศและ รวมถึงการได้รับทุนจากแหล่งทุนภายนอกร่วมกันกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
“กระทั่งปี 2563 ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ Covid-19 มีผลให้ระบบสาธารณสุขของประเทศได้รับผลกระทบอย่างมาก การวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพและการแพทย์จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องผลักดันให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านวิชาการ เศรษฐกิจและสังคม ในส่วนของนาโนเทค สวทช. เอง มีการปรับแผนการทำงานเกิดเป็นโครงการเฉพาะกิจจากฐานความรู้และความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในสถานการณ์โรคระบาดเป็น 2 กลุ่มงาน ได้แก่ งานวิจัยและพัฒนาด้านการรับมือวิกฤต COVID-19 และงานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังวิกฤต COVID-19 อาทิ ชุดตรวจหาเชื้อในกลุ่มโคโรนาไวรัสแบบรวดเร็วเพื่อการคัดกรองเบื้องต้น, แผ่นกรองและหน้ากากอนามัยสำหรับการป้องกันฝุ่น PM 2.5 แบคทีเรียและไวรัส, หมวกแรงดันลบ Negative Pressure Helmet เป็นต้น” ดร.วรรณีกล่าว
ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ สวทช. เองก็ได้เร่งผลักดันผลงานวิจัยด้านสุขภาพและการณ์แพทย์ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการวิชาการและเทคนิคเพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และได้หยิบยกงานวิจัยการพัฒนาสารฆ่าเชื้อมีซิงค์ไอออนที่พัฒนาขึ้น ซึ่งมีสมบัติที่สามารถอยู่บนพื้นผิวได้ยาวนาน อีกทั้งยังสามารถป้องกันเชื้อต่างๆได้นานขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้ protocol การทำความสะอาดตามโรงพยาบาลต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ต้องทำความสะอาดบ่อยๆ คณะกรรมการฯ จึงได้เสนอให้นำสารฆ่าเชื้อมีซิงค์ไอออนมาทดสอบ ณ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพันธมิตรกับ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์ประยุกต์ ด้านเวชศาสตร์เขตร้อน ตลอดจนความเชี่ยวชาญในการทดสอบฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลชีพ นั่นจึงเป็นที่มาของ โครงการทดสอบประสิทธิภาพการออกฤทธิ์สารฆ่าเชื้อออร์แกนิคซิงค์ไอออนหลังฉีดพ่นลงบนพื้นผิว ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
จากโครงการวิจัย “การพัฒนากระบวนการผลิตซิงค์ไอออนสำหรับยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย” โดย ดร.วรายุทธ สะโจมแสง ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งเเวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค ซึ่งเป็นโครงการย่อยภายใต้โครงการแผนบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โดยใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความคงตัวให้กับซิงค์ไอออนและเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้อย่างรวดเร็ว และออกฤทธิ์ได้ยาวนาน ทำให้มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ด้วยประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อไวรัสที่อยู่ระดับสูง โดยผลจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ* พบว่า สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ภายใน 1 นาที เทียบเท่าผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ ในราคาที่เข้าถึงได้ เทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ที่ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อระดับกลาง ที่สำคัญคือ ไม่มีกลิ่น และไม่ติดไฟ รวมถึง ผ่านการทดสอบการระคายเคืองต่อผิวหนัง จากสถาบัน Aisa Dermscan โดยทดสอบกับอาสาสมัคร รวมถึงทดสอบด้าน Toxicology and Bio Evaluation Service Center (TBES) ศูนย์บริการทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา สวทช. พบว่า มีความปลอดภัยไม่ระคายเคือง
*** ผลทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อไวรัส เช่น H1N1, H5N1, Coronavirus e.g. SARS, MERS, Porcine epidemic diarrhea virus (PEDV) (Coronaviridae) และ SARS-CoV-2 (Covid-19) เป็นต้น ซึ่งบริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด เอกชนผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้ส่งไปทดสอบจากสถาบันที่เชื่อถือได้ เช่น Blutest Laboratory จากประเทศอังกฤษ
ความร่วมมือระหว่างนาโนเทค สวทช. และภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี ในโครงการทดสอบประสิทธิภาพการออกฤทธิ์สารฆ่าเชื้อมีองค์ประกอบของออร์แกนิคซิงค์ไอออนหลังฉีดพ่นลงบนพื้นผิว เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์วิธีทดสอบประสิทธิภาพสารฆ่าเชื้อหลังการพ่นใช้งานบนพื้นผิวว่ายังมีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อได้ยาวนานเท่าไร และต้องพ่นซ้ำบนพื้นผิวความถี่แค่ไหนเพื่อให้สารฆ่าเชื้อยังคงมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยประจุบวกของออร์แกนิคซิงค์ไอออนที่ขนาดล็กระดับนาโนเมตรและมีความคงตัวสูงสามารถกระจายตัวในรูปฟิล์มเคลือบบนพื้นผิวและยังคงมีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อได้ยาวนาน
จากการทดสอบประสิทธิภาพการออกฤทธิ์สารฆ่าเชื้อที่มีองค์ประกอบของออร์แกนิคซิงค์ไอออน สามารถคงประสิทธิภาพฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ 100% หลังฉีดพ่นลงบนพื้นผิวนาน 24 ชั่วโมง โดยเชื้อแบคทีเรียที่ใช้ทดสอบ ได้แก่ Salmonella Choleraesuis, Staphylococcus aureus และ Pseudomonas aeruginosa และสามารถคงประสิทธิภาพการฆ่าไวรัส Porcine epidemic diarrhea virus (PEDV) ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูล(Coronavirus) เช่นเดียวกับเชื้อ SARS-CoV-2 หลังฉีดพ่นลงบนพื้นผิวนาน 24 ชั่วโมง
ปัจจุบัน นาโนเทค สวทช. อยู่ระหว่างประสานงานกับโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลสนามในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อนำไปใช้พ่นฆ่าเชื้อในพื้นที่เสี่ยง โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก บริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด ผู้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัยจาก นาโนเทค สวทช.
Discussion about this post