ก่อนที่หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Robotics and AI) จะเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ในโลกยุคดิจิทัลเช่นปัจจุบัน ในอดีตเราสัมผัสได้เพียงจากโลกเซลลูลอยด์ หรือจากภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์แฟนตาซี หรือ “หนังไซไฟ” (Sci-fi films)
รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 คือ ผู้อยู่เบื้องหลังและฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยได้เป็นสนามแข่งขันหุ่นยนต์โลก “World RoboCup” ซึ่งนับเป็น “อีเวนต์หุ่นยนต์” ที่ใหญ่ที่สุดของโลก และที่สำคัญได้เป็นผู้ผลักดันให้ทีมไทยสามารถคว้ารางวัลอันดับต้นๆ จากเวทีแข่งขันหุ่นยนต์โลกดังกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
นับวัน Robotics and AI จะยิ่งมีบทบาทในโลกยุคปัจจุบันที่สามารถนำหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ได้เกือบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นในโรงงาน โรงพยาบาล ร้านอาหาร ตามครัวเรือน หรือในฐานะ “หุ่นยนต์กู้ภัย” ฯลฯ โดยพบว่ายิ่งทำให้เล็ก ยิ่งคล่องตัว
ทุกคนคงจำได้ถึงภาพหุ่นยนต์ humanoid ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เตะฟุตบอลโชว์ ดูท่าทางเก้งก้างอุ้ยอ้าย แต่ด้วยความเจริญทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ในวันนี้เราได้เห็นหุ่นยนต์ที่จับต้องได้ในฟังก์ชันที่หลากหลายมาแข่งขันเตะฟุตบอลกัน โดยล่าสุดได้มุ่งเป้าหมายฝันไกลจะไปให้ถึง “ฟีฟ่า” (FIFA) หรือ “บอลโลก” ในปี 2050 หรืออีกเกือบ 3 ทศวรรษข้างหน้ากันเลยทีเดียว
จากการทุ่มเทเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ได้ปลุกปั้น “BART LAB” หรือ “ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์ชีวการแพทย์” บ่มเพาะบุคลากรด้าน Robotics and AI จนปัจจุบันเตรียมทำเป็น “sandbox” หรือหลักสูตรต้นแบบด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ (Medical Robotics and AI Engineering) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมรับแพทย์ต่อยอดศึกษาต่อระดับปริญญาโทรุ่นแรกภายในปี 2566
การันตีด้วยการวางรากฐานคุณภาพทางวิชาการที่ได้มาตรฐานระดับโลกไว้รองรับ ภายใต้ความร่วมมือกับ 3 ยักษ์ใหญ่แห่งโลกวิชาการ Medical Robotics and AI อาทิ มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) สหรัฐอเมริกา อิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) สหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวตง (Shanghai Jiao Tong University) สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในศูนย์รวมเทคโนโลยี Robotics and AI ฝั่งโลกเอเชีย
โดยก่อนหน้านี้ Robotics and AI ได้เป็นเหมือน “แขนขา” ที่สำคัญของหลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คอยบ่มเพาะบุคลากร และผลักดันสู่การผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต การป้องกันประเทศ ฯลฯ ที่ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อยู่ก่อนแล้ว
และยิ่งมั่นใจได้ถึงคุณภาพและมาตรฐานที่ไม่เป็นรองใคร จากการผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO17025 ที่ประกาศความพร้อมและมาตรฐานของห้องปฏิบัติการเชิงทดสอบด้านความเข้ากันทางชีวภาพ (Biocompatibility) ซึ่งสามารถใช้ในการทดสอบชิ้นส่วนหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ (Medical Robotics and AI) ที่ประกอบขึ้นด้วยชิ้นส่วนที่ปลอดภัยต่อมนุษย์ ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะไปให้ถึงมาตรฐาน ISO13485 ที่จะเป็นมาตรฐานรองรับการผลิตเป็นขั้นตอนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในเร็ววันนี้
ติดตามเข้าชมงาน World RoboCup 2022 ระหว่างวันที่ 13 – 16 กรกฎาคม 2565 ณ ไบเทค บางนา ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมชื่นชมเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมาสร้างความตื่นตาตื่นใจ จากตัวแทนกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ไม่แพ้การได้เห็นหุ่นยนต์โชว์เตะฟุตบอลครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อนแน่นอน ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://2022.robocup.org
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
Discussion about this post