4 นวัตกรรมของ สวทช. ที่ช่วยสนับสนุนภารกิจของสภากาชาดไทยทั้งการบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย บริการโลหิต และส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีนวัตกรรมหลายชิ้นที่นำไปประยุกต์ใช้ในงานอื่น ๆ ได้ และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้สนใจด้วย
“SOS Water” แก้ปัญหาน้ำดื่มยามประสบภัยพิบัติ
จากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ไร้ที่อยู่ ต้องอพยพไปอาศัยตามศูนย์ช่วยเหลือต่าง ๆ นอกจากขาดแคลนอาหารแล้ว ยังไม่มีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคและบริโภค ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. จึงนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเคลือบผิวในระดับนาโนและเทคนิคการกำจัดเชื้อแบคทีเรียมาพัฒนา “เครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน” หรือ “SOS Water” (Solar-Operating System Water ) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
“SOS Water” เป็นนวัตกรรมการกรองน้ำด้วยนาโนเทคโนโลยีที่ประยุกต์ใช้ไส้กรองเซรามิกเคลือบอนุภาคเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย โดยใช้กรรมวิธีการตรึงอนุภาคเงินระดับนาโนลงบนพื้นผิวและรูพรุนของไส้กรองเซรามิก ทำให้มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียและป้องกันการสะสมของเชื้อที่ไส้กรอง สามารถผลิตน้ำดื่มสะอาดจากแหล่งน้ำจืดธรรมชาติทั่วไปได้ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีหรือระบบการตกตะกอน
ตัวเครื่องมีน้ำหนัก 160 กิโลกรัม กำลังการผลิต 200 ลิตรต่อชั่วโมง เพียงพอต่อชุมชนขนาดประมาณ 1,000 คน เลือกใช้งานได้ทั้งแบบกระแสไฟฟ้าตรงจากโซลาร์เซลล์จำนวน 4 แผง หรือใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ได้ จึงเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร การใช้งานไม่ยุ่งยาก ติดตั้งและเริ่มใช้งานได้อย่างรวดเร็ว แผงโซลาร์เซลล์ถอดพับเก็บได้ สะดวกในการเคลื่อนย้าย ใช้งานได้ทั้งบนรถหรือบนเรือ
นาโนเทค สวทช. ร่วมมือกับสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย นำเครื่อง SOS Water ไปทดสอบประสิทธิภาพการทำงานจริงในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ผลจากการทดสอบในภาคสนามพบว่าใช้งานได้ดี โดยระบบการทำงานของเครื่อง SOS Water และคุณภาพของน้ำดื่มที่ผลิตได้ตามตามมาตรฐานน้ำดื่มของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เหมาะสำหรับการใช้งานทั้งในยามเกิดภัยพิบัติหรือในพื้นที่ทุรกันดารที่ไม่มีไฟฟ้าใช้
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ โทรศัพท์ 0 2564 7100 อีเมล pr@nanotec.or.th
ระบบติดตามอุณหภูมิกับการบริหารจัดการคุณภาพโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นองค์กรหลักที่มีในการจัดหาโลหิตให้เพียงพอและมีความปลอดภัย เพื่อให้บริการผู้ป่วยและโรงพยาบาลทั่วประเทศมีความต้องการโลหิต ซึ่งการจัดเก็บโลหิตอย่างมีคุณภาพต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ ห่วงโซ่ความเย็น หรือ blood cold chain ซึ่งเป็นหลักการที่ทั่วโลกใช้ในการจัดเก็บโลหิตให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม รักษาโลหิตมีคุณภาพดีพร้อมใช้งาน
ในอดีตศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดใช้เครื่องควบคุมอุณหภูมิที่ติดมากับตัวตู้แช่ ห้องเย็น และห้องแช่แข็ง ซึ่งไม่มีระบบสัญญาณเตือนเมื่ออุณหภูมิไม่อยู่ในช่วงที่กำหนด และต้องอาศัยเจ้าหน้าที่คอยเดินตรวจและจดบันทึกวันละ 2 ครั้ง ครั้งละร้อยกว่าตู้ สภากาชาดไทยจึงมองหานวัตกรรมมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ จึงร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. นำงานวิจัยเซนเซอร์อุณหภูมิมาพัฒนาต่อยอดเป็น ระบบติดตามอุณหภูมิพร้อมสัญญาณเตือน (Temperature Monitoring System: TMS) เพื่อเฝ้าติดตามอุณหภูมิของการเก็บรักษาคุณภาพโลหิตและแจ้งเตือนเมื่ออุณหภูมิภายในตู้แช่ ห้องแช่แข็ง หรือห้องเย็นออกนอกช่วงที่กำหนด โดยอุปกรณ์รับส่งสัญญาณแบบไร้สาย (transmitter) จะรับสัญญาณจากเซนเซอร์อุณหภูมิ แล้วส่งข้อมูลเข้าอุปกรณ์เก็บข้อมูลและประมวลผลก่อนจะนำเสนอผ่านโปรแกรมประยุกต์เพื่อแสดงผลข้อมูลอุณหภูมิ พร้อมแจ้งเตือนเหตุการณ์และความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ดูแลระบบแบบเรียลไทม์ ด้วยความรวดเร็วฉับไว พร้อมรายงานผลเข้าโทรศัพท์มือถือของเจ้าหน้าที่ให้เข้าแก้ไขปัญหาได้ทันที ช่วยรักษาคุณภาพโลหิตและส่วนประกอบโลหิตให้คงสภาพดี ช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียโลหิตและส่วนประกอบโลหิตจากการเก็บรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โทรศัพท์ 0 2564 6900 อีเมล info@nectec.or.th
ระบบบริการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า Face Verification
ช่วงที่มีการระบาดของโรคร้ายแรง รัฐจำเป็นต้องใช้ข้อมูลยืนยันตัวตนทั้งคนไทย กลุ่มชนชาติพันธุ์ ผู้ลี้ภัย และชาวต่างชาติที่อาศัยพักพิงอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้ทุกคนได้เข้ารับบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับวัคซีนโควิด 19 ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตลงได้ แต่บางคนไม่มีเอกสารราชการจึงไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนได้
เนคเทค สวทช. จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นำ “Face Verification” เทคโนโลยีระบบรู้จำใบหน้า มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกการยืนยันตัวตนในเรื่องการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขของไทยให้แก่แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารราชการ โดยเชื่อมกับระบบ MOPH-IC ของกระทรวงสาธารณสุข สร้างเลข 13 หลักแทนเลขประจำตัวประชาชน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลด้านสาธารณสุขเข้าสู่ระบบหมอพร้อม ด้วยความรวดเร็ว ใช้เวลาไม่เกิน 3 นาทีต่อคน
ปัจจุบันได้นำไปใช้ลงทะเบียนยืนยันตัวตนและบันทึกข้อมูลการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในพื้นที่ศูนย์อพยพหลายแห่ง เช่น ศูนย์อพยพถ้ำหิน จ.ราชบุรี, ศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ จ.ตาก, พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบบ้านใหม่ในสอย จ.แม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ยังนำไปใช้กับกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะที่ตลาดกลางกุ้งและตลาดทะเลไทย เพื่อลดการระบาดในกลุ่มแรงงาน สร้างความมั่นใจให้แก่ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดำเนินต่อไปได้เหมือนปกติ
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โทรศัพท์ 0 2564 6900 อีเมล info@nectec.or.th
AMED Telehealth แพลตฟอร์มหลังบ้าน Home Isolation ตัวอยู่ไกล แต่ยังใกล้หมอ
หลังจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาตรการเรื่องแนวทางการดูแลตนเองที่บ้าน (Home Isolation: HI) ของผู้ป่วยโควิด 19 ระหว่างรอเตียง เพื่อบรรเทาปัญหาเตียงเต็ม โรงพยาบาลและหน่วยงานที่ให้บริการทางการแพทย์จึงต้องจัดระบบดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่แยกกักตัวที่บ้านขึ้น เพื่อติดตามอาการ รักษา ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ซึ่งสิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยคือ ระบบหลังบ้านที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างแพทย์ พยาบาล กับคนไข้
นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. ได้นำเทคโนโลยีระบบตรวจสุขภาพทางไกลที่ชื่อว่า AMED Telehealth มาใช้เป็นระบบหลังบ้านของระบบ HI ที่โรงพยาบาลจัดทำขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลที่จำเป็นของผู้ป่วยโควิด 19 ให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้ในการติดตามอาการและรักษาผู้ป่วยได้อย่างสะดวก ผ่านสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์พีซี ครอบคลุมทั้งระบบปฏิบัติการวินโดว์ แอนดรอยด์ และไอโอเอส โดยมีจุดเด่นซึ่งยังไม่มีระบบใดทำมาก่อน คือ แดชบอร์ด (dashboard) ใบสั่งแพทย์แบบรายวันและต่อเนื่อง พร้อมแสดงสถานะของใบสั่งนั้น ๆ ทำให้แพทย์กับพยาบาลทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
หลังจากผู้ป่วย HI ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 และโรงพยาบาลใกล้บ้านรับเรื่องแล้ว เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะเพิ่มเพื่อนผู้ป่วยในแอปพลิเคชันไลน์ของโรงพยาบาลเพื่อเข้าสู่ระบบ HI โดยมีแพลตฟอร์ม AMED Telehealth เป็นระบบหลังบ้าน ผู้ป่วยมีหน้าที่รายงานสัญญาณชีพจากเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว อุณหภูมิร่างกาย ความดัน รวมทั้งอาการผิดปกติ ผ่านไลน์แอปพลิเคชันได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะวิดีโอคอล แชต หรือภาพถ่าย ส่งให้แพทย์และพยาบาลได้ทุกวัน แพลตฟอร์มจะเก็บข้อมูลดังกล่าวนี้เพื่อให้แพทย์และพยาบาลเข้ามาติดตามอาการ พร้อมสั่งการ ดูแลรักษา และให้คำแนะนำผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้แพทย์และพยาบาลยังเข้าระบบหลังบ้านเพื่อดูจำนวนเตียง จำนวนผู้ป่วย และยังเปิดการคัดกรองเคสคนไข้เพื่อบริหารจัดการข้อมูลเตียงผู้ป่วยได้ด้วย
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุข ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงสถานีกาชาด ของสภากาชาดไทย รวม 1,288 แห่ง ใช้แพลตฟอร์ม AMED Telehealth ในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 แบบแยกกักตัวที่บ้านและแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) มากกว่า 1 ล้านคน
โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใดต้องการทำระบบ Home Isolation ทีมวิจัย A-MED สวทช. พร้อมสนับสนุนระบบอย่างเต็มความสามารถ โดยติดต่อทีมวิจัยเพื่อใช้แพลตฟอร์มได้ที่ อีเมล a-med@nstda.or.th
Discussion about this post