ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสิ่งทอ โดยเฉพาะเส้นใยจากวัสดุทางธรรมชาติ และการพัฒนาเส้นใยจากผลผลิตทางการเกษตร และขยะเหลือใช้จากการเกษตร โดยเป็นการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า และการสร้างโอกาสใหม่ตามแนวทางทฤษฎีของการนำของเหลือใช้กลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ และการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า ลดจำนวนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมให้เกิดแนวคิดการออกแบบเพื่อความยั่งยืน
อาจารย์นภท์ชนก ขวัญสง่า อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการทำงานวิจัยผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์จากการพัฒนาเส้นใยดาหลา โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ว่า ดาหลาเป็นพืชที่สร้างรายได้ส่วนหนึ่งให้เกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส ส่วนใหญ่นิยมนำมาปลูก เพื่อจำหน่ายดอก และปลูกพืชแซมในแปลงพืชหลัก โดยดาหลายังเป็นพืชที่ปลูกได้ในทุกสภาพพื้นที่ การบำรุงดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก รวมถึงใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำ
สำหรับเหตุผลที่เลือกนำต้นดาหลามาใช้แปรรูปเป็นเส้นใย เนื่องจากเกษตรกรจะตัดต้นดาหลาทิ้งหลังจากที่ตัดดอกนำจำหน่ายแล้ว เพื่อให้ดาหลาแตกหน่อใหม่ต่อไป โดยจะตัดต้นดาหลาต้นเก่าทิ้งทุกสัปดาห์ และไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ หลังจากตัดแล้วจะนำต้นดาหลาตัดเป็นท่อนวางทิ้งไว้ให้แห้ง เพื่อรอเผาทำลาย ซึ่งใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าที่ต้นดาหลาจะแห้งจนสามารถเผาทำลายได้ ต้นดาหลาจึงกลายเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
โดยจากการวิเคราะห์และทดลองสกัดเส้นใย เพื่อนำไปทำเส้นด้ายในการทอและเป็นการเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้เกษตรกร อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ผลจากการทดลองสกัดกัดเส้นใยพบว่า ส่วนของลำต้นดาหลา รวมถึงก้าน ดอก ใบ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เกษตรกรจะทิ้งไว้ในแปลงไม่ได้ใช้ประโยชน์หลังจากตัดดอกจำหน่าย ผู้วิจัยถึงได้ทดลองสกัดเส้นใยจากส่วนของลำต้น รวมถึงใบและก้านดอกของดาหลาผลปรากฏว่าสามารถนำมาสกัดเป็นเส้นใยได้ทุกส่วน แต่ส่วนของใบและก้านดอก จะได้น้ำหนักเส้นใยแห้งน้อย เมื่อเทียบกับส่วนลำต้น ที่มีน้ำหนักมากที่สุด สามารถนำมาสกัดเป็นเส้นใยแห้งได้น้ำหนักมากกว่าส่วนอื่นๆ
สำหรับเส้นใยดาหลาจากลำต้นที่ผ่านกระบวนการนวด และการตากแห้งเส้นใยแล้ว จะนำเส้นใยที่ได้เข้าสู่ระบบตีเกลียว ด้วยระบบปั่นด้านเส้นใยสั้น ด้วยเทคนิคเสมือนการปั่นด้ายด้วยมือ โดยใช้เส้นใยฝ้ายเป็นตัวนำ เพื่อให้เส้นใยดาหลาสามารถเกาะผสานได้ดี ทำให้เส้นด้ายที่ได้มีลักษณะเป็นเส้นด้ายผสม หรือในปัจจุบันอาจเรียกว่าเส้นด้ายเทคนิค หรือเส้นด้ายทางเลือก โดยมีอัตราส่วน ฝ้าย 85 % ดาหลา 15% ซึ่งเส้นใยที่สกัดเป็นเส้นด้ายนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถใช้เป็นส่วนประกอบในการทอผ้า แต่ยังคงคุณลักษณะบางประการที่ต้องดำเนินการทดลองสกัดเส้นใยให้ได้คุณภาพและขนาดเล็กเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ต่อไป
ขณะที่สีน้ำจากดอกดาหลาเมื่อนำมาผสมสารขั้นต้นต่างๆ ที่ใช้ในการย้อมสีธรรมชาติจะทำให้สีเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีผลการติดสี โดยจะต้องมีการทดสอบสีหาค่าความเป็นกรด-ด่างด้วยกระดาษลิตมัส ให้ค่าอย่างน้อยอยู่ระดับ 4 จึงจะมีคุณสมบัติในการย้อมสีได้ สารขั้นต้นได้แก่ สารส้ม กรดผลไม้ เกลือ โดยจากการวิเคราะห์สีย้อมจาการผสมสารขั้นต้น สีจากดอกดาหลาที่ผสมสารขั้นต้น และให้คุณสมบัติในการย้อมได้ดี คือสีที่ผสมด้วยสารส้ม เนื่องจากให้สีที่สดและเข้ม ค่าความเป็นกรดด่าง อยู่ในระดับ 4 แล้วนำเส้นด้ายดาหลาและไหมย้อมลงไปในหม้อน้ำสี จุ่มขึ้นลง เป็นเวลา 1 ชั่วโมง
หลังจากนั้นนำไหมและเส้นด้านดาหลาที่ย้อมไปแช่ในน้ำสารส้ม 30 นาที อีกครั้ง อัตราส่วนน้ำ 3 ลิตรต่อ สารส้ม 200 กรัม เพื่อคงสีที่ย้อมไว้ไม่ให้ตก แล้วนำไปล้างน้ำสะอาดและตากในที่ร่ม เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการทอผ้าต่อไป ซึ่งผลจากการย้อมสีจากดอกดาหลาสามารถย้อมด้ายดาหลาและไหมได้ แต่การย้อมไหมจะดูดซึมสีได้ดีกว่าฝ้าย ซึ่งเมื่อย้อมด้ายดาหลา เมื่อแห้งสีจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเหลือง ส่วนไหมจะยังคงสีชมพูของดอกดาหลา ส่วนเส้นใยที่เหลือนำ จะนำมาแปรรูปเป็นกระดาษสา และสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหาร อาทิเช่น กากดอกดาหลากวน น้ำพริกแห้งดาหลาได้อีกด้วย
อาจารย์นภท์ชนก กล่าวด้วยว่า ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋าและรองเท้า และผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ โดยในงานวิจัยครั้งนี้มีผลิตภัณฑ์พิเศษ 2 รูปแบบ คือ 1. เบาะรองนั่งที่วัสดุหลักคือผ้าดาหลาทอยกดอก ที่พัฒนาเป็นเส้นด้ายดาหลา และลายยกดอกเป็นลายจากดอกดาหลา และใช้เศษเหลือของยางพารา มาทำไส้เบาะรองนั่ง 2.รองเท้า ที่วัสดุหลักคือผ้าดาหลาทอยกดอก และส้นรองเท้าจากไม้ตาลโตนด, เก้าอี้ จากไม้ตาลโตนด พนักพิงบุด้วยผ้าดาหลาทอยกดอก, โคมไฟ จากไม้ตาลโตนด ตัวโคมบุด้วยผ้าดาหลาทอยกดอก ทั้งนี้เพื่อใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น หรือวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นให้คุ้มค่าตามแนวคิด ทฤษฎีการสร้างมูลค่าให้เศษวัสดุ และการใช้วัสดุให้คุ้มค่าตามทฤษฎีที่การใช้ขยะให้เหลือศูนย์ (Zero Waste) อีกทั้งยังทำให้เกิดรายได้แก่เกษตรกรที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวทางทฤษฎีการออกแบบเพื่อความยั่งยืน
ทั้งนี้ ในอนาคต ทางทีมวิจัยจะนำพืชชนิดอื่นๆ มาพัฒนาเพิ่มเติม โดยนำหลักแนวคิดของเสียเหลือศูนย์หรือ Zero waste เป็นปรัชญาที่ส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรให้กลับมาใช้ใหม่เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นให้เหลือที่สุด สำหรับประชาชนที่สนใจผลิตภัณฑ์สิ่งทอและผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถติดต่อมาได้ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
Discussion about this post