นายบุญเดี่ยว บุญหมั้น นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ปอเทืองเป็นพืชตระกูลถั่ว เจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพภูมิประเทศ ทนต่อความแห้งแล้ง และเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ปอเทืองสามารถสร้างธาตุอาหารขึ้นได้เองโดยเฉพาะไนโตรเจน จึงนิยมปลูกเป็นพืชปุ๋ยสดเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ทางสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์จึงมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกปอเทืองปรับปรุงบำรุงดิน รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ ปัจจุบันมีการส่งเสริม สาธิตและสนับสนุนการใช้ประโยชน์ปอเทืองให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์หลายมิติ ตั้งแต่การสนับสนุนและปลูกสาธิตให้กับเกษตรกร เพื่อใช้เป็นพืชปุ๋ยสดปรับปรุงบำรุงดิน โดยในปี 2564 มีพื้นที่เป้าหมายรวม 8,000 ไร่ การถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องของการผลิตเมล็ดพันธุ์ปอเทืองให้มีผลผลิตดี คุณภาพดี และเกิดการหมุนเวียนเมล็ดพันธุ์ในชุมชน เพิ่มรายได้หลังจากการปลูกพืชหลัก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกหลังนาหรือข้าวโพด นอกจากนี้สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์ได้มีการพัฒนากลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ปอเทือง ไปสู่การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ปอเทืองอีกด้วย
นายบุญเดี่ยว ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ลักษณะเด่นของปอเทืองเป็นพืชตระกูลถั่ว บริเวณปมรากถั่ว หรือที่เราเรียกว่า ไรโซเบียม (Rhizobium) จะมีจุลินทรีย์ที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาเป็นปุ๋ยไนโตเจนให้กับพืชได้ เมื่อปลูกปอเทืองอายุประมาณ 45-50 วัน แล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด เราจะได้ซากพืชของปอเทืองประมาณ 2,000-3,000 กิโลกรัมต่อไร่ หรือคิดเป็นน้ำหนักแห้ง 500-840 กิโลกรัมต่อไร่ โดยจะผ่านกระบวนการย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุในดินต่อไป นอกจากนั้นยังได้ปุ๋ยไนโตรเจน 10-30 กิโลกรัมต่อไร่ ฟอสฟอรัส 1-2 กิโลกรัมต่อไร่ โพแทสเซียม 12-20 กิโลกรัมต่อไร่ และยังได้ธาตุอาหารรองอย่างแคลเซียม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์เฉลี่ย 5-15 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งนี่คือประโยชน์จากการที่เราปลูกปอเทืองเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน
ด้านนายคัมภีร์ หงส์คำ หมอดินอาสาประจำตำบลบึงกระจับ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า เมื่อก่อนพื้นที่เกษตร สภาพดินจะแข็งกระด้างมาก ปัจจุบันดินดีขึ้น มีความร่วนซุยมากขึ้น เนื่องจากมีการปรับปรุงบำรุงดิน โดยได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ปอเทืองจากสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์มาปลูกเป็นพืชปุ๋ยสด และแนะนำให้สมาชิกที่ทำเกษตรอินทรีย์ทำตาม ทำให้ดินของพี่น้องเกษตรกรผลผลิตดีขึ้นเรื่อยๆ และมีเกษตรกรอีกหลายรายสนใจ ขอรับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์อย่างต่อเนื่อง
นายกฤษฎา สุริยะอักษร เกษตรกรสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ตำบลบึงกระจับ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า หลังจากปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวอินทรีย์ ทางสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์ ได้เข้าสนับสนุนการใช้ปอเทืองในการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ดินมีความร่วนซุยขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น พื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ทั้งหมด 6 ไร่ เมื่อก่อนใช้สารเคมีผลผลิตข้าวจะได้ 200-300 กิโลต่อไร่ พอมาใช้ปอเทืองเป็นพืชปุ๋ยสด ผลผลิตข้าวเพิ่มเป็น 500-600 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้มีรายได้จากการขายข้าวอินทรีย์ 25,000-30,000 บาทต่อไร่
นางสาวฐิติรัตน์ พรมนอก เกษตรกรสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 9 ไร่ เดิมเป็นพืชเชิงเดี่ยว ได้รับคำปรึกษาจากทางกรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสานร่วมกับระบบเกษตรอินทรีย์ เน้นการลดต้นทุนการผลิตโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น การปลูกปอเทืองแล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด รวมถึงการปลูกเป็นพืชคลุมดินเพื่อลดการชะล้างหน้าดินในพื้นที่
Discussion about this post