เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป บริษัทด้านเทคโนโลยีการคมนาคมขนส่งในสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการทดสอบการขนส่งแคปซูลโดยสาร หรือ “พ็อด” (Pod) ของระบบขนส่งความเร็วสูง “ไฮเปอร์ลูป” โดยที่มีคนโดยสารไปด้วยเป็นครั้งแรกของโลก
ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 จากนั้นกลุ่มบริษัทเวอร์จิน กรุ๊ป ได้เข้าไปลงทุนในปี 2017 โดยก่อนหน้านี้บริษัทเป็นที่รู้จักในนาม ไฮเปอร์ลูป วัน (Hyperloop One) และ เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน (Virgin Hyperloop One)
ไฮเปอร์ลูปเป็นเทคโนโลยีการขนส่ง โดยมีพาหนะที่เรียกว่า “พ็อด” หรือ แคปซูล วิ่งไปในอุโมงค์สุญญากาศด้วยความเร็วสูง ซึ่งในการทดสอบครั้งล่าสุดในทะเลทรายรัฐเนวาดา พ็อดที่มีผู้โดยสารสองคน ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท สามารถเดินทางไปตามทางวิ่งยาว 500 เมตร โดยใช้เวลา 15 วินาที ด้วยความเร็วสูงสุด 172 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (107 ไมล์ต่อชั่วโมง)
เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เวลาในการพัฒนาหลายปี โดยสร้างขึ้นจากแนวคิดของนายอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลา ซึ่งในช่วงแรกกลุ่มนักวิจารณ์เปรียบแนวคิดนี้เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ นายมัสก์ ได้เสนอแนวคิดระบบขนส่งนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2013 โดยตั้งเป้าว่าจะพัฒนาระบบนี้ให้มีความเร็วสูงสุดที่ 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางในอนาคต
ไฮเปอร์ลูป มีแนวคิดมาจาก รถไฟแม็กเลฟ (maglev) ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เทคโนโลยีพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างแรงยกตัวให้รถไฟวิ่งไปโดยที่ลอยอยู่เหนือรางแทนการใช้ล้อ จากนั้นใช้การเร่งความเร็วไปตามอุโมงค์สุญญากาศเพื่อทำให้ไฮเปอร์ลูปทำความเร็วได้มากขึ้น
รถไฟแม็กเลฟของญี่ปุ่นได้สร้างสถิติโลก ด้วยการทำความเร็วสูงสุดราว 601 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (374 ไมล์ต่อชั่วโมง) ในการทดสอบวิ่งใกล้กับภูเขาไฟฟูจิ เมื่อปี 2015
ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเมื่อปี 2018 นายร็อบ ลอยด์ ผู้บริหาร เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน ในขณะนั้น ระบุว่า ในทางทฤษฎีเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้คนสามารถเดินทางระหว่างสนามบินฮีทโธรว์และสนามบินแกตวิคในกรุงลอนดอน ซึ่งมีระยะทาง 72.42 กิโลเมตร (45 ไมล์) ได้ภายในเวลาเพียง 4 นาที
นอกจากนี้ เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป ยังสำรวจความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีนี้ในประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น การตั้งสมมุติฐานเรื่องการเดินทางระหว่างนครดูไบกับกรุงอาบูดาบี ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยใช้เวลาเพียง 12 นาที เมื่อเทียบกับการขนส่งมวลชนที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางกว่า 1 ชั่วโมง
Discussion about this post