จากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด 19 นอกเหนือจากผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างสาหัส ต่อผู้คนและเศรษฐกิจทั่วโลกแล้ว ในวิกฤติยังมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่ระดมทั้งทุนปัญญา และทุนทรัพย์ เข้ามาช่วยกันบรรเทาผลกระทบ โดยเฉพาะ การจัดหาเครื่องมือช่วยทีมแพทย์และพยาบาล ที่เปรียบเสมือน “ด่านหน้า” ในการรับมือโควิด 19 ให้คลายความกังวล รู้สึกปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่วนรวมมากขึ้น ขณะที่โจทย์ท้าทายของความร่วมกันคือ ต้องดำเนินการอย่าง “รวดเร็วแข่งกับเวลา” และ “ใช้งานได้จริง” จากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว นำไปสู่การเกิด “นวัตกรรมแบบเปิด” หรือ Open Innovation ในวงการแพทย์ โดยเฉพาะ การเกิดขึ้นของนวัตกรรม “ห้องแยกโรคติดเชื้อความดันลบ” (Airborne Infectious Isolation Room, AIIR) แบบสำเร็จรูปพร้อมติดตั้ง ซึ่ง CPAC ผู้นำด้านโซลูชั่นการก่อสร้างจากเอสซีจี ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับพรูเด็นเชียล ประกันชีวิต และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
“CPAC อยู่ในวงการก่อสร้างมานาน มีองค์ความรู้การก่อสร้าง Transform ธุรกิจมาระยะหนึ่งจากการขายสินค้า มาขาย Solution แต่สิ่งที่เราไม่มีคือ การสร้าง Medical Solution ตอนนั้นเราไม่เคยทำห้องแยกโรคติดเชื้อความดันลบ ให้กับโรงพยาบาล ต้องคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ (วชิรพยาบาล และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข) ว่า ทำอย่างไรเราจะใช้งานห้องนี้ได้จริง ขณะที่บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต จำกัด เข้ามาช่วยเรื่องงบดำเนินการ ความร่วมมือเหล่านี้ นำมาซึ่ง Open Innovation ในวงการแพทย์ของไทยในช่วงการระบาดของโควิด 19” วีรกร สายเทพ CPAC BIM Director บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) เผย
โดยในส่วนของ CPAC ได้นำเทคโนโลยีก่อสร้าง BIM มา “ต่อยอด” สู่การแก้ไขปัญหาด้าน Medical Solution โดยนำ Digital และ Construction Technology มาพัฒนาเป็น Medical Solution by CPAC BIM หรือโซลูชั่นห้องแยกโรคติดเชื้อความดันลบ ดังกล่าว ภายใต้กลยุทธ์ Green Construction Solution หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมงานก่อสร้าง เพื่อช่วยให้ก่อสร้างไว เพิ่มความคุ้มค่า ลดของเสีย ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่เน้นการก่อสร้างเพื่อความยั่งยืนในทุกกระบวนการตั้งแต่ การออกแบบ การก่อสร้าง และดูแลหลังก่อสร้าง เพื่อแก้ปัญหาการก่อสร้างที่ไม่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่ล้าสมัย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“เทคโนโลยี BIM ถูกนำมาใช้วางแผนและควบคุมการก่อสร้างด้านการออกแบบทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างเห็นภาพจริงและเข้าใจตรงกัน ทั้งแบบห้องและฟังก์ชันการใช้งาน จึงสามารถตรวจสอบความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ก่อน เป็นการลดขยะจากการก่อสร้าง ช่วยควบคุมงบประมาณและระยะเวลาทำงานได้ทันตามกำหนด ตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ได้เพียงพอ ตามแนวทาง Speed with Good Enough Quality ของ CPAC”
นวัตกรรมดังกล่าว ยังพัฒนาไปสู่คลินิกแยกโรคติดเชื้อแบบสำเร็จรูปพร้อมติดตั้ง (Acute Respiration Infection Outdoor Clinic, ARI Outdoor Clinic) โดยได้ส่งมอบให้กับ โรงพยาบาลระนองไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น ซึ่งห้อง ARI Outdoor Clinic CPAC เป็นคลินิกฯ ที่มีการแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนทั้งการคัดกรอง ตรวจเชื้อ และเก็บเชื้อ ซึ่งแยกเส้นทางระหว่างแพทย์ กับผู้ป่วยออกจากกัน สนับสนุนการคัดกรอง ค้นหาเชิงรุกอย่างรวดเร็ว ยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด19 ที่สามารถผลิตได้ภายใน 15 วัน และ ปัจจุบันยังได้มีการพัฒนานำห้อง ARI Outdoor Clinic ไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลสงฆ์ โดยออกแบบเป็นห้องตรวจรักษาผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ ที่จะแยกออกมาจากอาคารตรวจโรคปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2564 และ อีกหนึ่งความภาคภูมิของ CPAC คือ การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการร่วมสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 10 ที่จังหวัดสมุทรสาคร หรือ ที่เรียกกันว่า ศูนย์ห่วงใยคนสาคร
“หลักคิดการสร้างนวัตกรรมของ CPAC ให้ออกมารวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ คือ ต้องหาพันธมิตรที่จะช่วยเสริมจุดแข็งของกันและกัน ขอให้รู้ว่าใครเก่งอะไร และคนเก่งอยู่ที่ไหน โดยCollaboration มองและเดินสู่เป้าหมายเดียวกัน องค์ความรู้จะสามารถเชื่อมต่อกันได้หมด (Open Innovation) ซึ่งเป็นแนวทางที่ CPAC จะมุ่งไปในอนาคต ภายใต้การเรียนรู้ความผิดพลาด และพัฒนาให้ดี เปลี่ยนทัศนคติของคนทำงาน ทำให้เกิด Growth mindset อุปสรรคไม่ใช่ปัญหา กล้าทดลอง เพื่อผลักดันนวัตกรรม” วีรกรกล่าว
ที่มา : scgnewschannel
Discussion about this post