นางพัฒนา โสบุญ ประธานกลุ่มทอผ้า “ภูพานพัตร” บ้านกกกอกใหม่ ตำบลงิ้วด่อน อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า เดิมตนมีอาชีพหลักทำนาเพียงอย่างเดียว ภายหลังได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพ ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร รวมกลุ่มกันทอผ้าย้อมคราม เป็นอาชีพเสริม ภายหลังเริ่มมีชื่อเสียง มีผู้มาสั่งจองให้ทอผ้าเป็นจำนวนมากขึ้น ประสบปัญหาทอผ้าไม่ทันกับความต้องการของตลาด เนื่องจากสมาชิกกลุ่ม เกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ ทำให้ทอผ้าได้ช้า ประกอบกับมีความต้องการต่อยอดอาชีพ ให้สามารถตัดเย็บเสื้อผ้าได้ จึงได้สมัครเข้าเรียนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น โดย“วิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร” ได้ออกมาสอนการตัดเย็บเสื้อผ้าที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน พร้อมคิดค้นนวัตกรรม “กระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ” ทำให้ผ้าทอมือ สามารถทอได้รวดเร็วขึ้น จากเดิมระยะเวลา 1 เดือน สามารถทอผ้าได้ 50 เมตร ตั้งแต่นำนวัตกรรม “กระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ” มาช่วยทอผ้า ทำให้ทอผ้าได้มากถึง 100 เมตร สร้างรายได้จากการทอผ้าย้อมคราม จำหน่ายเป็นเมตร เดือนละกว่า 60,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการตัดเย็บเสื้อผ้าอีกด้วย
ด้านนางมนัสนันท์ ราตรีหว่าง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร กล่าวว่า การคิดค้นนวัตกรรม “กระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ” เป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดสกลนคร เพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ด้านเศรษฐกิจ จากผลกระทบวิกฤตโรคโควิด-19 จึงได้คิดค้นนวัตกรรมที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพทอผ้าย้อมคราม ให้สามารถทอผ้าได้หน้ากว้างขึ้น และทอได้เร็วขึ้น โดยยังคงรักษาความเป็นผ้าทอมือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมไว้
ทั้งนี้ นวัตกรรม “กระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ” ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร ได้รับรางวัลอันดับที่ 3 การประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ภาคอีสาน ประจำปี พ.ศ. 2565 และผ่านการนำเสนอเอกสารเชิงแนวคิด ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในระดับที่มีคุณภาพ กิจกรรมการบ่มเพาะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา Smart Invention & Innovation ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2565 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
Discussion about this post