ในเรื่องการทำการเกษตร “การขุดเจาะดิน” ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเพาะปลูก เพราะพืชหลายๆ ชนิด ต้องการหลุมปลูกที่เหมาะสมในการเจริญโต แม้จะฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ ในความเป็นจริงนั้นกลับเป็นเรื่องที่ยาก เพราะสภาพดินในแต่ละพื้นที่มีความอ่อนแข็งไม่เท่ากัน และหากต้องขุดหลุมเพื่อปลูกผลผลิตนับพันต้น ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างแน่นอน
ด้วยปัญหาจากความเหน็ดเหนื่อยในการขุดเจาะหลุม นายปรีชา บุญส่งศรี เกษตรกรจังหวัดลพบุรี จึงได้ประดิษฐ์ “เครื่องขุดหลุมนิวบอร์น” อุปกรณ์เจาะดินแบบมีตัวค้ำยัน ที่ช่วยให้การขุดหลุมปลูกกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น จนได้เป็นหนึ่งใน 10 ผลงาน ที่ได้รับ รางวัลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน จากทาง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA อีกด้วย
แรงบันดาลในการประดิษฐ์เครื่องขุดดินนั้น นายปรีชา เล่าว่า มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการที่จะปลูกกล้วยพันต้น แต่การขุดหลุมปลูกทีละต้นนั้นทั้งเหนื่อยและใช้เวลามาก แม้จะใช้งานเครื่องขุดหลุมที่วางขายตามท้องตลาด แต่ก็ไม่ตอบโจทย์และไม่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย ทั้งยังอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ จากแรงเหวี่ยงของสว่านที่เจาะลงดิน ด้วยการมีความรู้พื้นฐานเรื่องช่าง และการได้คลุกคลีกับอุปกรณ์การเกษตร จึงได้ประดิษฐ์เครื่องขุดหลุมขึ้นมาใช้เอง โดยใช้ชื่อ “เครื่องขุดหลุมนิวบอร์น” เพื่อเป็นตัวช่วยในเรื่องขุดดิน ให้งานยากๆ กลายเป็นงานง่ายๆ
เครื่องขุดหลุมรุ่นแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นมานั้น เป็นเครื่องขุดหลุมขนาดมาตรฐาน 60 เซนติเมตร ตัวเครื่องมีการเสริมตัวค้ำยัน เพื่อเป็นตัวช่วยในการสร้างความมั่นคงและลดแรงเหวี่ยงของสว่าน เพราะขณะที่ใบพัดสว่านเจาะลงในเนื้อดินนั้นจะเกิดแรงต้านและแรงเหวี่ยงสะบัดเครื่องขุดดิน ยิ่งเนื้อดินแข็งมากเท่าใด แรงต้านและแรงเหวี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้น หากผู้ใช้งานเครื่องเจาะดินจับไม่มั่นคงแล้ว ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้
“เมื่อได้ทดลองใช้งานเองแล้ว มีความรู้สึกว่าเครื่องสามารถทุ่นแรงได้ดีมาก จากปกติสามารถขุดหลุมได้ชั่วโมงละ 5 หลุม หลังจากใช้เครื่องสว่านเจาะดิน 1 ชั่วโมง สามารถขุดหลุมได้ประมาณ 100 หลุม และในหนึ่งวันสามารถเจาะได้ประมาณ 500 หลุม นับได้ว่าผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก และยังได้มีการผลิตเพื่อขายให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง”
ปัจจุบันเครื่องขุดหลุมนิวบอร์น มีให้เลือกใช้ 2 รุ่น ได้แก่ เครื่อง 2 จังหวะ และ เครื่อง 4 จังหวะ ที่มีอุปกรณ์ ได้แก่ พร้อมกับใบสว่าน ขนาด 1 เมตร , 1.5 เมตร, 2 เมตร ในเรื่องของการซ่อมบำรุงนั้น สามารถหาอะไหล่ได้ตามท้องตลาด หลังจากที่ลูกค้าได้นำไปใช้งาน ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะจุดเด่นคือ ตัวค้ำยันที่ช่วยทุ่นแรงเหวี่ยงของสว่าน ทำให้ไม่เมื่อยล้าหรือเกร็งขณะขุดเจาะดิน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเกษตรกรที่นำไปใช้มีการบอกต่อๆ กัน และแนะนำกันและกันให้ใช้งาน พร้อมกับเสียงเรียกร้องให้ผลิตเครื่องเจาะที่มีความลึกมากกว่านี้ จึงได้มีการพัฒนาเครื่องเจาะที่สามารถขุดเจาะดินลึกมากขึ้น พร้อมกับมีการพัฒนาตัวค้ำยันให้มีล้อเลื่อน เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้าย สามารถเข็นได้ไปในพื้นที่ต่างๆ เช่น ร่องสวน หรือพื้นที่ขรุขระ ไม่ต้องยกไปมาให้เมื่อแขน
สำหรับการต่อยอดในอนาคตจะมีการพัฒนาในเรื่องของขนาดเครื่องให้มีความสั้นลง เพื่อให้สามารถใส่ท้ายรถเก๋งได้ เนื่องจากมีความคิดเห็นของลูกค้าว่า ในปัจจุบันคนที่มีที่ดินหันมาปลูกต้นไม้กันมากขึ้น เนื่องจากมีการเก็บภาษีที่ดินรกร้าง หากจะจ้างคนมาปลูกต้นไม้ก็มีค่าใช้จ่ายสูง จึงหันมาปลูกกันเอง จึงได้มีการซื้อเครื่องขุดหลุมไปขุดเจาะดินเพื่อปลูกต้นไม้เอง เช่น ลูกค้าบางรายนำเครื่องไปใช้งาน สามารถขุดหลุมปลูกกล้วย 20 ไร่ ในเวลาเพียง 1 วัน ซึ่งนับว่าเป็นการทุนแรง และประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก นอกจากงานเกษตรกรรมแล้ว ก็ยังได้มีการนำเครื่องขุดหลุมไปใช้เป็นเครื่องมือช่าง อาทิ การนำไปขุดเจาะดินเพื่อลงเสาเข็มบ้าน หรือนำไปขุดเจาะดินเพื่อลงเสาป้ายบอกทางของทางกรมทางหลวง ด้วยความคิดที่เป็นประโยชน์และสามารถนำมาใช้งานได้จริง
Discussion about this post