ก่อนจะทิ้งอะไรต้องคำนึงก่อนเสมอว่า สิ่งนั้นสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับมันได้หรือไม่ หากมีแต่คน ทิ้ง เผา ฝัง โลกของเราก็จะเกลื่อนไปด้วยขยะมากขึ้น จากเสวนา CIRCULAR ECONOMY: นวัตกรรมวัสดุหมุนเวียน เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน ที่จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (สศส.) ได้พูดคุยกับ 5 ผู้ประกอบที่นำวัสดุเหลือใช้มาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ ทั้งเศษเหลือใช้ทางการเกษตร ขยะพลาสติก เศษผ้าในโรงงาน เศษจากงานจักสาน เกิดเป็น “วัสดุใหม่” ไม่มีที่รู้จบ
วัสดุทดแทนไม้จากเส้นใยธรรมชาติ
ปองภพ เกณฑ์ชัยภูมิ จาก RE-Hub studio ได้พัฒนา วัสดุทดแทนไม้ผลิตจากเส้นใยที่ได้จากของเหลือทางการเกษตรที่หาได้ในประเทศ เช่น ใบสับปะรด ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด ใยกัญชง ใยนุ่น โดยมีส่วนผสมของวัสดุธรรมชาติสูงถึง 85 – 90%
โดยปองภพ กล่าวว่า วัสดุที่ได้ใหม่จะมีความแข็งแรง ทนทาน มีสารเคลือบกันน้ำ แต่ไม่ควรแช่น้ำ และใช้งานภายนอก สั่งผลิตโดยเลือกส่วนผสมที่ต้องการเองได้มากกว่า 1 วัสดุ เพื่อให้ได้สัมผัสและคุณสมบัติที่ต้องการ ตัววัสดุจะทิ้งกลิ่นหอมจากธรรมชาตินั้น ๆ และจะค่อย ๆ จางไปตามกาลเวลา เหมาะกับนำมาขึ้นรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ใช้เป็นวัสดุตกแต่งภายใน วัสดุปิดผิว แม้แต่เครื่องประดับ เช่น แหวน หรือกำไลข้อมือ
สินค้าแฟชั่นที่มาจากผ้ากระสอบข้าวเก่า
สัมฤทธิ์ ชูกลิ่น จาก D&C Design and Concept ได้พัฒนา ผ้ากระสอบข้าวเก่าที่ใช้งานแล้ว นำมาเคลือบยางพาราธรรมชาติ นำเทรนด์วัสดุใหม่ในการผลิตสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์
แนวคิดอัปไซคลิงที่นำของที่ไร้คุณค่าและไร้ประโยชน์กลับมาสร้างมูลค่าด้วยการเคลือบน้ำยางนี้ ช่วยเพิ่มคุณสมบัติกันเปียก กันฝน ทนต่อการฉีกขาดได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเช็ดทำความสะอาดง่าย ทั้งยังทำให้มีสีสันและลวดลายแบบงานศิลปะได้ตามที่ต้องการจึงเปิดโอกาสให้แบรนด์ นักออกแบบ หรือโรงงานหยิบเอาวัสดุ Saxtex Sheet นี้ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการนำมาตัดเย็บเป็นสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ได้หลากหลาย รวมถึงใช้เป็นวัสดุปิดผิวที่สวยงามแตกต่าง พร้อมด้วยคุณสมบัติในการยึดเกาะ
นอกจากนี้ เศษที่เหลือทิ้งจาก Saxtex Sheet ยังสามารถนำมาอัปไซเคิลได้อีกครั้ง ด้วยการเข้ากระบวนการบดผสมกับยางแผ่นด้วยสูตรเฉพาะ สามารถขึ้นรูปเป็นวัสดุใหม่หน้าตาคล้ายซีเมนต์ที่สามารถหักงอได้ นับเป็นการนำวัสดุมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้อย่างไม่มีวันจบ
รองเท้ารักษ์โลกจากยางพาราและเศษผ้า
อัครชัย เตชะวีรภัทร CEO บริษัท Gemio คือผู้ผลิตรองเท้าผ้าใบที่พบว่าหลังจากการไดคัทรองเท้าทุกครั้งจะมีเศษผ้าที่เหลือถึง 25% จึงอยากหาวิธีการที่จะใช้วัสดุจากเศษผ้าเหลือทิ้งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำมาผสมผสานกับคอมพาวด์ยางเกิดเป็นวัสดุใหม่ “ECO 2 Surface” ที่มีส่วนผสมของเศษผ้า 10% และยางพาราอีก 90%
วัสดุจากการหมุนเวียนนี้สามารถนำมาขึ้นรูปเป็นพื้นรองเท้าที่ช่วยเพิ่มการยึดเกาะและทำให้พื้นรองเท้าสึกหรอช้าลง พร้อมทั้งยังมีลวดลายและสัมผัสแตกต่างกันไปในแต่ละชิ้นงาน จนสามารถต่อยอดเป็นสินค้าแฟชั่นที่ร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ นำเสนอวัสดุใหม่นี้บนเวทีระดับประเทศได้
นอกจากนี้ ทีมงานยังได้พัฒนาวัสดุตัวใหม่ที่จะสามารถใช้เศษผ้าที่เหลือใช้ได้ทั้งหมด กลายมาเป็นวัสดุ “ECO 2 Fuse” ที่มีกระบวนการผลิตไม่ต่างจากเดิม แต่สัดส่วนของวัสดุที่ใช้ผลิต เปลี่ยนจากยางพารามาเป็นการเพิ่มปริมาณเศษผ้าให้มากกว่า ในสัดส่วน 90:10 ซึ่งวัสดุชิ้นใหม่ที่พัฒนาขึ้นมานี้ สามารถนำไปต่อยอดร่วมกับกระบวนการผลิตผ้าต่าง ๆ เช่น นำ ECO 2 Fuse ไปผสมผสานกับเทคนิคการย้อมครามจากธรรมชาติ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมากขึ้น และสุดท้าย บริษัทฯ ยังได้พัฒนาวัสดุ “ECO 2 Shine” จากเศษวัสดุไม้สักและเศษขี้เลื่อยที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์เข้ามาเพิ่ม ซึ่งสามารถใช้ขึ้นรูปเป็นแผ่นรองกันลื่นทั้งบนโต๊ะ เป็นหน้าประตู หรือวัสดุปิดผิวในงานตกแต่งภายใน หรือแม้แต่นำกลับมาทำเป็นพื้นรองเท้า ผลิตภัณฑ์ตั้งต้นของบริษัทได้อีกด้วย
กระดาษเตยปาหนันจากเศษเหลือทิ้งในงานหัตถกรรมชุมชน
จันทร์เพ็ญ ปูเงิน ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เตยปาหนันบ้านดุหุน อ.สิเกา จ.ตรัง กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์จักสานเตยปาหนัน (Panae Craft) เป็นสินค้าหัตถกรรมทำมือที่มีความละเอียด ประณีต บ่งบอกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของ จ.ตรัง โดยเฉพาะกระเป๋าจักสานที่มีหลายแบบ หลายราคา เช่น กระเป๋าถือใบละ 1,200 บาท กระเป๋าสตางค์แบบมีซิปรอบใบละ 590 บาท และกระเป๋าใส่เหรียญ รวมทั้งงานจักสานอื่น ๆ ที่มีราคาเริ่มต้นชิ้นละ 100 บาท ซึ่งการจักสานเตยปาหนันนั้นมีกรรมวิธีหลายขั้นตอน โดยเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกใบเตยปาหนันซึ่งหาได้ในชุมชน แล้วนำใบมากรีดเป็นเส้นตรง นำไปแช่น้ำเพื่อให้ใบเปลี่ยนสี จากสีเขียวเป็นสีขาว แล้วนำไปตากแห้งได้เป็นตอกเตย
กระบวนการต่อมาคือการย้อมสี ซึ่งขั้นตอนย้อมสีนี้เป็นการย้อมสีตามความต้องการของลูกค้า แล้วนำไปจักสานเป็นรูปทรงและลวดลายต่างๆ สำหรับผลิตภัณฑ์จักสานเตยปาหนันของกลุ่มในปัจจุบัน ได้แก่ กระเป๋า เสื่อ ขมุกยา และหมวก โดยสินค้าแต่ละชิ้นจะมีความโดดเด่นไม่เหมือนกัน ทั้งในด้านของสีและลายจักสาน
ในช่วงสถานการณ์ปกติก่อนการระบาดของโควิด-19 ทางกลุ่มซึ่งมีสมาชิกประมาณ 40 คน สามารถสร้างรายได้เข้ามาเดือนละ 200,000 บาท อีกทั้งยังมีการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 บาทต่อปี สามารถเสริมรายได้ให้สมาชิกอีกทางหนึ่ง
เม็ดและเชือกพลาสติกรีไซเคิล
วิศรุต ชาลี จาก Rewastec Co., Ltd. พัฒนา เม็ดพลาสติกและเชือกพลาสติกรีไซเคิลที่พัฒนาสูตรจนมีคุณสมบัติเชิงกลที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีกลิ่นธรรมชาติ ซึ่งพลาสติกที่เหมาะนำมารีไซเคิลมากที่สุดก็คือ พลาสติกประเภทที่ 1 PET พลาสติกประเภทที่ 2 HDPE และประเภทที่ 4 LDPE ทั้งนี้ ตลาดรีไซเคิลของสองประเภทแรกนั้นค่อนข้างใหญ่และมีช่องทางให้ไปต่ออีกมาก ขณะที่ขยะพลาสติกนิ่มหรือ LDPE เช่น ขวดน้ำเกลือ นั้นยังมีการนำมาต่อยอดไม่มากนัก
บริษัท Rewastec จึงเลือกนำเอาพลาสติกประเภทนี้มาผสมกับขยะทางการเกษตร เช่น ชานอ้อย ใบไผ่ ฟางข้าว กากกาแฟ และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติของวัสดุ กลายเป็น “เม็ดพลาสติกและเชือกพลาสติก” กว่า 50 สูตร โดยใช้เครื่องรีดพลาสติกแบบสกรูคู่ (Twin Screw Exclusion) ในการผสมวัสดุขยะพลาสติกและขยะทางการเกษตรแบบ 100% ผ่านกระบวนการหาค่าพารามิเตอร์ โดยไม่เติมแต่งสารเคมีอื่นใด เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเม็ดพลาสติกผลิตใหม่ (Virgin)
เมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดพลาสติกที่ต้องผลิตใหม่ พลังงานที่ใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลนี้จะต่ำกว่า และยังลดคาร์บอนฟุตพรินต์ลงได้มากถึง 89% ซึ่งวัสดุที่ได้ออกมาจะให้สีแบบธรรมชาติตามสีของวัสดุทางการเกษตรที่นำมาผสม รวมถึงมีกลิ่นอ่อน ๆ ติดอยู่ด้วย วัสดุเม็ดและเชือกพลาสติกนี้สามารถนำไปฉีดขึ้นรูปได้ตามต้องการ เช่น บรรจุภัณฑ์ ภาชนะ เชือกป่าน หวายเทียม ที่นำไปเป็นผลิตเป็นสินค้าหัตถกรรมได้หลากหลายรูปแบบ
Discussion about this post