บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ดึงเทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) วางแผนฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวที่คุ้งบางกระเจ้าในโครงการ OUR Khung BangKachao ใช้ AI ติดตามผลพื้นที่สีเขียว 6,000 ไร่ ภายใน 5 ปี ตั้งเป้าต้นแบบพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน
โครงการ OUR Khung BangKachao ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้ความร่วมมือจากกว่า 100 องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ชุมชน โดยมีมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้กำกับดูแลกำหนดนโยบาย และในปีนี้ วรุณาได้เป็นหัวเรือใหญ่ในการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการวางแผนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ นำร่องในงานพัฒนาพื้นที่สีเขียว ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานคณะทำงานฯ โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอีกกว่า 30 องค์กร ผ่านแพลตฟอร์มวิเคราะห์ “วรุณา” (VARUNA Analytics) ในการเก็บข้อมูลในพื้นที่ด้วยโดรนสำรวจและดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์พื้นที่แบบ End to End ด้วยระบบเอไอ (AI) ช่วยให้การวางแผนฟื้นฟูทำได้ตรงจุด และแม่นยำมากยิ่งขึ้น
นางสาวพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารด้านธุรกิจ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การลงพื้นที่เพื่อสำรวจและติดตามผลการพัฒนาพื้นที่สีเขียว คือ ความท้าทายอย่างหนึ่งของการศึกษาสิ่งแวดล้อมในโครงการที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่แบบคุ้งบางกระเจ้า ซึ่งโดยทั่วไปจะต้องใช้ทั้งกำลังคนและเวลาเพื่อลงพื้นที่เดินสำรวจ แต่การนำเทคโนโลยีอย่างเอไอ (AI) เข้ามาใช้จะช่วยให้วางแผนการลงพื้นที่ได้อย่างตรงเป้าหมาย แม่นยำ ทำให้ลดเวลาการดำเนินงานส่วนนี้ได้อย่างมาก
เทคโนโลยีของวรุณาเป็นการใช้ภาพถ่ายจากโดรนควบคู่กับภาพ Normalized Difference Vegetation Index (NDVI) จากดาวเทียม ตรวจวัดความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า รวมถึงวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ โดยดาวเทียมจะเก็บภาพทุกสัปดาห์ไว้เป็นฐานข้อมูล ที่สามารถดูย้อนหลังได้ถึง 5 ปี ทำให้สามารถติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง และวางแผนลงพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง มีการใช้เทคนิค Machine Learning และ AI มาประมวลผล ซึ่งให้ผลทั้งด้านกว้าง คือ ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ และเชิงลึก คือ ได้ข้อมูลที่มีความละเอียดและแม่นยำสูง ในเวลาอันรวดเร็ว ช่วยเพิ่มศักยภาพในการติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ให้สำเร็จตามเป้าหมาย
นอกจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว วรุณายังมีจุดแข็งด้านทีมงาน ซึ่งประกอบด้วยวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิชาการเกษตรดิจิทัล (Digital Agronomist) ที่ทำงานร่วมกับรุกขกร นักวิชาการป่าไม้ โดยวรุณาช่วยพัฒนาและจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ และติดตามผลเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวของคุ้งบางกระเจ้า รวมถึงเตรียมวางแผนพัฒนาระบบให้เจ้าหน้าที่หน้างานสามารถเรียกดูข้อมูลที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างสะดวกผ่านทางอุปกรณ์มือถือ
ในขณะเดียวกัน วรุณาได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว เช่น การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ การจัดโซนนิ่งพื้นที่ ลักษณะพื้นที่สีเขียวและลักษณะดินและน้ำในพื้นที่ และภาพรวมเชิงสถิติ พร้อมกับใช้ AI สร้างโมเดลข้อมูลเพื่อช่วยสร้างระบบติดตาม ซึ่งในอนาคตจะวางแผนพัฒนาโมเดลการคำนวณการกักเก็บคาร์บอน เพื่อศึกษาผลเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่บางกระเจ้า
พณัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า วรุณามั่นใจว่าการนำเทคโนโลยีมาช่วยเก็บข้อมูลเพื่อติดตามผลความคืบหน้าการดำเนินโครงการ รวมถึงสร้างฐานข้อมูลจำเป็นที่สามารถนำไปวิเคราะห์จะช่วยให้ทีมงานสามารถปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานได้อย่างทันท่วงที เพื่อช่วยสนับสนุนให้โครงการบรรลุผลสำเร็จตามที่วางไว้ และคาดหวังว่าโครงการ OUR Khung BangKachao จะเป็นต้นแบบการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในการสร้างความยั่งยืนแบบสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งสามารถนำไปเป็นแนวทางพัฒนาพื้นที่อื่นได้ในอนาคต
การพัฒนาพื้นที่สีเขียวคุ้งบางกระเจ้าในโครงการ OUR Khung BangKachao ดำเนินงานในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2562-2566) มีเป้าหมายหลักเพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวทั้งพื้นที่ราชพัสดุในความดูแลของกรมป่าไม้ และพื้นที่อื่นๆ ประมาณ 6,000 ไร่ (คิดเป็นประมาณ 50% ของพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า) รวมถึงการสร้างอัตลักษณ์พื้นที่สีเขียวในพื้นที่ และส่งเสริมเกษตรปลอดภัย โดยมุ่งเน้นหัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและความต้องการของชุมชนเป็นหลัก การพัฒนาพื้นที่สีเขียวช่วยก่อให้เกิดรายได้และผลประโยชน์ชุมชนในหลายรูปแบบ เช่น สวนผลไม้ การแปรรูป และการท่องเที่ยว รวมถึงต้องการให้พื้นที่บางกระเจ้าช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน ลดฝุ่นละออง PM 2.5 มลพิษทางอากาศ ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน สร้างชุมชนเข้มแข็งที่สามารถช่วยรักษาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน
“วรุณามีความเชี่ยวชาญทางด้านการสำรวจพื้นที่และวิเคราะห์ด้วย AI สามารถนำไปใช้ทำงานทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการเกษตร นอกจากโครงการบางกระเจ้า วรุณาก็ยังมีโครงการอื่นๆ เพื่อช่วยนำข้อมูลมาช่วยประกอบการตัดสินใจวางแผนให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น เช่น การสำรวจและติดตามผลพื้นที่ภัยพิบัติทางการเกษตรจากอุทกภัย และเราพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อนำโซลูชันเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยสามารถติดตามรายละเอียดโซลูชันและการให้บริการได้ที่ www.varunatech.co” นางสาวพณัญญากล่าวทิ้งท้าย
Discussion about this post