อีกผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ในการแปรรูปสิ่งของเหลือใช้กำจัดยากให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่่ และกลายเป็นงานดีไซน์รักษ์สิ่งแวดล้อมรับเทรนด์โลก
ดร.ประชุม คำพุฒ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งได้ดูแลหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า หลายบริษัทฯ ประสบปัญหาเรื่องของการจัดการขยะพลาสติกประเภทซองบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นวัสดุผสมหลายอย่าง หรือ Multi-materials ด้วยเพื่อต้องการรักษาสภาพของสินค้าภายในให้มีคุณภาพ เช่น ตัวอย่างของซองกาแฟ ต้องเป็น แบร์ริเออร์ (Barrier) ที่ดีมากๆ คือ ต้องป้องกันไม่ให้ทั้งน้ำและอากาศเข้า เพราะจะทำให้กลิ่นกาแฟเพี้ยนไปจากเดิม จึงต้องเคลือบด้วยโลหะ เช่น อะลูมิเนียม สลับกันหลายชั้น ดังเช่นซองมันฝรั่งทอดที่เราเห็นผิวด้านในเป็นสีเงินแวววาว ซึ่งก็จะช่วยเก็บความกรอบให้มันฝรั่งทอดมีชีวิตอยู่บนชั้นวางสินค้าได้ยาวนานมากขึ้น
ดังนั้น จึงเกิดเป็นปัญหาหลักในเรื่องของการจำกัดขยะซองบรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และผู้ประกอบการทุกรายได้หาทางแก้ปัญหาการนำมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ไม่ได้ โรงงานรับซื้อขยะก็ไม่รับซื้อ เนื่องจากหาทางที่จะไปต่อไม่ได้ จึงต้องฝังกลบหรือเผาทิ้ง ซึ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและพลังงานมหาศาล ทำให้มีบางบริษัทได้คิดค้นพลาสติกชนิดที่กันน้ำและอากาศซึมผ่านได้โดยไม่ต้องใช้โลหะเคลือบ (Mono-material) เพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้ แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และเป็นเทคโนโลยีที่ยังเหมาะกับบริษัทฯ รายใหญ่ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้โดยง่าย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วซองซาเช่ ซองฟอยด์ ซองลามิเนต ก็ยังคงต้องมีใช่อยู่ไปอีกนาน”
หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มทร.ธัญบุรี ได้เปลี่ยนมุมมองความคิดเดิมๆ โดยไม่ยึดติดกับกรอบการวิจัยที่ผ่านมา เพื่อให้ก้าวผ่านขีดจำกัดในการจัดการขยะซองบรรจุภัณฑ์ที่มีอยู่ คือ ถ้าหากเราคิดแต่การรีไซเคิล จะไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การอัพไซเคิลได้เลย และหลายครั้งที่นักวิจัยใช้วิธีการรีไซเคิลเพื่อมาอัพไซเคิลอีกครั้ง ตัวอย่างเช่น ต้องการจะอัพไซเคิลซองฟอยด์เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ แต่ต้องทำกระบวนการแยกฟอยด์ออกจากชั้นพลาสติกก่อน แล้วจึงนำฟอยด์ไปอัพไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์อื่น และนำพลาสติกที่แยกแล้วไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อีกแบบหนึ่ง เป็นต้น เช่นนี้ หน่วยวิจัยของเราไม่นับว่าเป็นการอัพไซเคิลในทิศทางที่ถูกต้อง เนื่องจากต้องเสียเวลาในกระบวนการแยกวัสดุออกจากกัน จึงเลือกการอัพไซเคิล โดยการใช้ซองทั้งหมด 100% โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการแยกวัสดุออกจากกัน อีกทั้งวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลต้องง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตต้องมีราคาถูก เพื่อให้ชุมชนเข้าถึงได้ง่าย ทำได้เอง ซึ่งชุมชนก็จะสามารถรับทำงาน CSR ของบริษัทฯ ขนาดใหญ่ได้อีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ที่ทางหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อัพไซเคิลจากซองขนมขบเคี้ยว และซองกาแฟ เช่น วัสดุตกแต่งผนังแบบสองมิติและแบบสามมิติ โดยได้รับการรันตีรางวัลเหรียญทองจากงาน “The Innovation Week in Africa” (IWA 2021) ผลงานเรื่อง “แผ่นอัดจากซองอลูมิเนียมฟอยด์สำหรับงานตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์” จัดโดย สมาคม OFEED ณ ประเทศโมร็อกโก (ออนไลน์) ระหว่างวันที่ 8-12 กันยายน 2564 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้แผนงานวิจัยทะเลไทยไร้ขยะ อำนวยการแผนงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีโครงการพัฒนาต่อเป็นแผ่นไม้กระดานเทียม สำหรับทำเป็นพื้น ผนัง และแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ซึ่งวัสดุหรือวัสดุต่างๆ ที่ได้ดำเนินการนี้สามารถใช้ขยะซองบรรจุภัณฑ์ได้ 100%
ทั้งนี้ เมื่อต้องการทราบปริมาณการใช้ขยะซองบรรจุภัณฑ์ว่าสามารถใช้ได้เท่าไหร่ก็นำผลิตภัณฑ์นั้นๆ มาชั่งน้ำหนักดู ก็จะได้ปริมาณขยะซองบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ไปได้ทันที นำผลงานไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ มีภาคเอกชนนำไปใช้จริง คาดว่าขยะ ซองซาเช่ ซองฟอยด์ ซองลามิเนต จากขยะที่ไม่มีค่าและต้องเสียเงินในการนำไปกำจัดทิ้ง ก็จะกลายเป็นขยะที่มีราคามากกว่าขยะพลาสติกอย่างแน่นอน ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มทร.ธัญบุรี โทร.0-2549-3410 หรือทางเฟซบุ๊ก กลุ่ม “กิจกรรมเพื่อสังคม (CSR)”
Discussion about this post