โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah) เป็นโรคร้ายแรงที่สามารถติดได้ทั้งในสัตว์และคน ในกรณีสัตว์เศรษฐกิจอย่างสุกร หากติดเชื้อจะมีอาการไข้สมองอักเสบรุนแรงและอาจตายในเวลาอันสั้น ส่วนคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับสุกรป่วยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสนิปาห์ ทำให้มีอาการไข้สมองอักเสบซึ่งอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน ที่ผ่านมา ในปี 2541-2542 มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ครั้งรุนแรงที่สุดในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ขณะนั้นมีจำนวนผู้ป่วยสูงถึงเกือบ 300 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ทำให้ต้องมีการสั่งฆ่าสุกรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อมากกว่า 1.2 ล้านตัว หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของสุกรทั่วประเทศมาเลเซีย
แม้ในตอนนี้จะยังไม่พบการอุบัติซ้ำที่รุนแรง แต่หากไม่มีการเฝ้าระวังและเตรียมการป้องกันโรคไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดเหตุขึ้นอีกครั้งก็อาจสร้างความเสียหายได้ไม่น้อยกว่าเหตุการณ์ที่เคยเผชิญกันมาแล้ว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยพัฒนา “วัคซีนต้นแบบสำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสนิปาห์และไวรัสพีอาร์อาร์เอส (PRRS) ในสุกร” ที่คาดหวังว่าจะสามารถป้องกันโรคอันตรายได้ถึง 2 ชนิด ในวัคซีนเข็มเดียว
ดร.นันท์ชญา วรรณเสน นักวิจัยจากทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงการพัฒนาวัคซีนว่า ปัจจุบันยังไม่มีการใช้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ทั้งสำหรับคนและสัตว์ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ได้มีการอุบัติขึ้นบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการล่วงหน้าเพื่อให้สามารถรับมือการระบาดได้อย่างทันท่วงทีและลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นแล้วทีมวิจัยจึงได้คิดค้นการพัฒนาวัคซีนต้นแบบที่สามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคนิปาห์รวมเข้ากับวัคซีนป้องกันโรคที่มีการฉีดอย่างแพร่หลายให้กับสุกรอยู่แล้ว คือ วัคซีนป้องกันโรค PRRS เพื่อให้ใน 1 เข็ม ที่เกษตรกรลงทุนค่าวัคซีน สามารถป้องกันโรคติดเชื้อที่เป็นอันตรายแก่สุกรได้ถึง 2 โรค
“โครงการวิจัยนี้คณะวิจัยไบโอเทคได้ใช้ความเชี่ยวชาญในการตัดต่อพันธุกรรมไวรัส PRRS และได้วางแผนร่วมกับ Prof. Simon Graham และ Dr. Rebecca McLean จาก The Pirbright Institute (TPI) สหราชอาณาจักร ในการทดสอบคุณสมบัติของไวรัส PRRS ในการใช้เป็นเวกเตอร์ไวรัส (Viral vector) นำส่งโปรตีนของไวรัสนิปาห์เข้าไปในร่างกายสุกร เพื่อให้สุกรที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดนี้มีภูมิคุ้มกันต่อโรคทั้ง 2
ในการทำวิจัยครั้งนี้ไบโอเทคได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก The Transnational Access Activities (TNA) : Veterinary Biocontained Facility Network (VetBioNet) มูลค่า 61,350 ปอนด์ (2,504,000 บาท) โดยเป็นการสนับสนุนการทดสอบวัคซีนในห้องปฏิบัติการวิจัย High containment laboratory ซึ่งใช้สำหรับการวิจัยและทดลองเกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคร้ายแรงและสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ที่ Animal and Plant Health Agency, UK รวมถึงให้การสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง”
ดร.นันท์ชญา เสริมว่า ตอนนี้ทีมวิจัยได้พัฒนาวัคซีนต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนของการทดสอบเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดโรคทั้ง 2 ในสุกรที่ประเทศอังกฤษ คาดว่าน่าจะรู้ผลภายในปีนี้ หากผลออกมาดีก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป โดยวัคซีนชนิดนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการป้องกันโรคสุกรในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาด โดยเฉพาะประเทศเขตร้อนซึ่งรวมถึงประเทศไทย
ที่มา : nstda
Discussion about this post