กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้บริการวิเคราะห์ความเสียหายชิ้นส่วนวิศวกรรมแก่ภาคอุตสาหกรรมกว่า 100 รายการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ช่วยป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจ ช่วยยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ยกระดับความปลอดภัย เสริมแกร่งอุตสาหกรรมของไทย
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ วว. ให้บริการวิเคราะห์รากของปัญหาความเสียหายเชิงโลหะวิทยาสำหรับชิ้นส่วนวิศวกรรม (Metallurgical Root Cause Failure Analysis for Engineering Parts) เนื่องจากความเสียหายของเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และแม้แต่โครงสร้าง เป็นปัญหาสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมทุกประเภท เพราะจะนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ามหาศาล และอาจเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน การวิเคราะห์สาเหตุความเสียหายจึงมีความสำคัญ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงรากของปัญหาหรือสาเหตุที่แท้จริงของความเสียหายนั้น และยังใช้เป็นแนวทางในการป้องกันการเกิดความเสียหายในลักษณะเดียวกันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ช่วยแก้ไขปัญหาก่อนเกิดความเสียหายรุนแรง ช่วยยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และช่วยยกระดับความปลอดภัยในการใช้งานชิ้นส่วนวิศวกรรม
ตัวอย่างชิ้นส่วนวิศวกรรมซึ่ง วว. ให้บริการวิเคราะห์ครอบคลุมในอุตสาหกรรมต่างๆ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตโครงสร้างสลิง อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตและขนส่งก๊าซ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กกล้าเชื่อมด้วยไฟฟ้าสำหรับส่งน้ำ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม อาทิ ชิ้นส่วนเส้นลวดพันเกลียว ชิ้นส่วนกระป๋องบรรจุทูน่าในซอสมะเขือเทศ ชิ้นส่วนท่อส่งน้ำมัน ชิ้นส่วนท่อขนาดเล็กจากอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน ชิ้นส่วนเหล็กแท่งสเตนเลสของเครื่องกรองอนุภาคขนาดเล็ก ชิ้นส่วนท่อไอน้ำรับความดันสูงและท่อโค้ง ชิ้นส่วนขนาดเล็กของหยดโลหะเชื่อมจากการผลิตท่อไอเสีย ชิ้นส่วนโครงฝาครอบอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน ชิ้นส่วนอุปกรณ์ป้องกันก๊าซรั่วซึม ชิ้นส่วนท่อส่งน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค ชิ้นส่วนท่อส่งน้ำสเตนเลสสำหรับโรงผลิตยางล้อรถ ชิ้นส่วนเกียร์เฟืองจากระบบผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตขวดเครื่องดื่มพลาสติกและขวดน้ำแร่ ชิ้นส่วนแผ่นไฟเบอร์กลาส ชิ้นส่วนหน้าแปลนจากระบบผลิตเม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนตะปูหัวใหญ่ น๊อต โครงค้ำ และอุปกรณ์จับยึดจากสวนน้ำ และชิ้นส่วนท่อโค้ง เป็นต้น
ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชิ้นส่วนอุปกรณ์ของเครื่องจักรและโครงสร้าง เป็นปัญหาที่มักพบได้เสมอในชีวิตประจำวัน แม้ปัจจุบันจะมีอุปกรณ์ช่วยในการออกแบบ และใช้เทคนิคในการซ่อมบำรุงที่ทันสมัย เพื่อช่วยตรวจสอบสภาพการใช้งานของเครื่องจักรมากขึ้นก็ตาม แต่สภาวะการทำงานจริงของชิ้นส่วนมักไม่เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ ทำให้มีโอกาสที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของโครงสร้างหรืออุปกรณ์จะรับภาระกรรมเกินขีดจำกัด ซึ่งนำไปสู่การแตกหักเสียหายหรือเสื่อมสภาพในที่สุด ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจ ชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นความสามารถในการวิเคราะห์การเสียหายของวัสดุได้อย่างถูกต้องแม่นยำนั้น ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดอย่างหนึ่งในวิชาชีพวิศวกรรม เนื่องจากข้อมูลรายละเอียดที่ได้จากกระบวนการวิเคราะห์และผลการวิเคราะห์ จะเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่ทำให้เข้าใจธรรมชาติได้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังจะเพิ่มขีดความสามารถในการออกแบบและวิศวกรรมให้สูงขึ้น และจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและลดการเสียหายของชิ้นส่วนในอนาคต
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับบริการจาก ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ วว. ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 0 2577-9264-79 โทรสาร 0 2577-9308 Call Center 0 2577-9265-6 Email : natapol_b@tistr.or.th
ที่มา : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
Discussion about this post