“เอ็นไอเอ” จับมือ สมาคมเฮลธ์เทคไทย ส่งระบบ “โควิดแทร็คเกอร์” ช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มมาตรฐานและประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย ทั้งมอนิเตอร์อาการผู้ป่วยโควิด – 19 ในโรงพยาบาลสนาม 1,000 กว่าเตียง
โดยเป็นระบบรายงานอาการเบื้องต้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไปยังทีมแพทย์และโรงพยาบาล แพทย์สามารถตรวจหรือสอบถามอาการของคนไข้ผ่านการใช้ระบบวิดีโอคอล สามารถรองรับข้อมูลได้มากกว่า 300,000 ครั้ง/วัน
ขณะนี้ได้เริ่มนำร่องใช้จริงแล้วในโรงพยาบาลสนามทั้งที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และโรงพยาบาลสนามอื่นที่แสดงความจำนงเข้ามา จำนวน 6 แห่ง รองรับผู้ป่วยกว่า 1,200 เตียง ได้แก่ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ศูนย์บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา โรงพยาบาลสนามของสาธารณสุข จังหวัดยะลา โรงพยาบาลสนามศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ทหารอากาศ และหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) โรงแรม บ้านไทย บูทีค (ในความดูแลโรงพยาบาลตากสิน สำนักการแพทย์ กทม.) โดยจะถูกใช้ไปจนกว่าโรงพยาบาลสนามจะปิดตัวลง หรือจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรควิด – 19 ในประเทศไทยจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในระยะที่ 3 นี้ ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาในการเข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัด จนทำให้ต้องขยายพื้นที่เพื่อรักษาอาการผู้ติดเชื้อโดยใช้ “โรงพยาบาลสนาม” แต่หลายฝ่ายก็ยังมีความกังวลถึงประสิทธิภาพในการรองรับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัย การติดตาม การรักษาที่อาจไม่ทั่วถึง คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อ ฯลฯ
ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชน NIA จึงได้ร่วมมือกับสมาคมเฮลธ์เทคไทย และบริษัท พรีซีชั่น ไดเอทซ์ จำกัด นำแพลตฟอร์ม “Covid Tracker : โควิดแทร็กเกอร์” เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ภายในโรงพยาบาลสนาม โดยเป็นแพลตฟอร์มการแพทย์ทางไกลที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า มีกลไกการทำงานที่สำคัญคือ ระบบประเมินอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยและรายงานไปยังทีมแพทย์ รวมถึงการติดตามอาการโดยที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องเข้าไปในพื้นที่เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มนำร่องใช้จริงแล้วในโรงพยาบาลสนามทั้งที่อยู่ภายใต้สังกัด อว. และและโรงพยาบาลสนามอื่นที่แสดงความจำนงเข้ามา รวมจำนวน 6 แห่ง ประมาณ 1,200 เตียง โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย และจะถูกใช้ไปจนกว่าโรงพยาบาลสนามจะปิดตัวลง หรือจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาด ในประเทศไทยจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ NIA ยังคงพร้อมเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร กรรมการผู้จัดการบริษัท พรีซีชั่น ไดเอทซ์ จำกัด กล่าวว่า แพลตฟอร์ม Covid Tracker ได้รับการสนับสนุนจาก NIA ตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปีที่ผ่าน ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ จึงได้ปรับระบบให้รองรับการใช้งานในโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ โดยจะเป็นการทำงานผ่านแพลตฟอร์มเว็บแอปพลิเคชัน (web application) ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวจะได้รับ Password และ Username สำหรับการเข้าใช้งานครั้งแรก
โดยผู้ป่วยที่เข้ารับรักษาตัวต้องดำเนินการวัดอุณหภูมิ และรายงานอาการให้พยาบาลและทีมแพทย์ทราบอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งผ่านทางแอปพลิเคชัน หากมีอาการผิดปกติ หรือมีข้อสงสัยสามารถฝากคำถามผ่านระบบสนทนาไปถึงแพทย์ พยาบาล นอกจากนี้ แพทย์สามารถตรวจหรือสอบถามอาการของคนไข้ผ่านการใช้ระบบการแพทย์ทางไกลด้วยการวิดีโอคอล ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยลดข้อกังวลแก่ผู้ป่วย และลดความเสี่ยงให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าในโรงพยาบาลสนามได้เป็นอย่างดี สำหรับการทำงานและประสิทธิภาพของแพลตฟอร์ม Covid Tracker นั้นระบบออกแบบให้สามารถรองรับการใช้งานพร้อมกันของจำนวนคนไข้หรือการรายงานข้อมูลผู้ป่วยจำนวน
ซึ่งขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจาก AWS Cloud ซึ่ง เป็นระบบการประมวลผล เก็บรักษาข้อมูลมีที่ความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งมีคุณภาพ และมีการรับรองการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้นำระบบไปติดตั้งและใช้งานในโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และ Alternative State Quarantine (ASQ) หลายแห่ง โดยระบบสามารถรองรับการรายงานจำนวนมากกว่า 300,000 ครั้ง และช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นการรายงานผลผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด รวมถึงลดระยะเวลาในการบันทึกข้อมูล การรวบรวมข้อมูล และการแปลผลข้อมูลสุขภาพและอาการของผู้ป่วยให้กับทีมพยาบาล นอกจากนี้ ระบบยังสามารถติดตามอาการของผู้ป่วยเมื่อออกจากโรงพยาบาลสนามไปกักตัวที่บ้านได้อีกด้วย
ด้าน พญ.วรรณิกา แสงสุริย์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลตากสิน ผู้ดูแลตากสินฮอสพิเทล (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ระบุว่า “สำหรับ Taksin HOSPITEL อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลตากสิน สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้การบริหารของ พญ.สิรินาถ เวทยะเวทิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากสิน ซึ่งขณะนี้ทางโรงพยาบาลตากสินได้ร่วมมือกับโรงแรมบ้านไทย บูทีค เขตบางกะปิเปลี่ยนโรงแรมเป็นโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 300 ราย และเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
โดยผู้ป่วยที่สามารถรับการรักษาได้จะต้องเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้าม อายุไม่เกิน 50 ปี มีผลตรวจรังสีทรวงอกปกติ และทุกรายจะต้องผ่านการประเมินจากแพทย์ที่โรงพยาบาลก่อน โดยทางโรงพยาบาลตากสินได้มีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ ระบบสื่อเทคโนโลยี ระบบเทเลเฮลธ์ต่าง ๆ เพื่อให้แพทย์ พยาบาลสามารถติดตามข้อมูลด้านสุขภาพ และรับรายงานผลตรวจร่างกายจากผู้ป่วยได้ผ่านระบบเทเลเฮลธ์ เช่น การรายงานอุณหภูมิกาย ความดันโลหิต ชีพจร และความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ซึ่งขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้มีการทดลองใช้ระบบเทเลเฮลธ์ “โควิดแทร็กเกอร์” ซึ่งผู้ป่วยจะตรวจวัดค่าสัญญาณชีพด้วยตนเองและรายงานผลผ่านระบบเทเลเฮลธ์ เพื่อให้แพทย์ประเมินการเปลี่ยนแปลง ของอาการได้อย่างรวดเร็ว
อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเนื่องจากการสัมผัสผู้ป่วยได้อีกด้วย จากการใช้งานระบบดังกล่าวพบว่าได้รับผลเป็นที่น่าพอใจต่อบุคลากรที่ปฏิบัติงาน สามารถตรวจพบความผิดปกติของอาการผู้ป่วยได้ทันทีจากข้อมูลที่ผู้ป่วยทุกรายส่งมาทางระบบวันละ 3 ครั้ง นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังช่วยให้การทำงานของบุคลากรมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นนับว่าระบบเทเลเฮลธ์โควิดแทรกเกอร์ ช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรในฮอสพิเทลได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับความต้องการต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงการระบาดของโควิดในปัจจุบัน
Discussion about this post