นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รอง ผวจ.ราชบุรี นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการ ททท. พร้อมด้วย นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) นายบุญเสริม ขันแก้ว รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว นายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายสนธยา คอนกำลัง ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนวัดโชติทายการาม และ นายไพศาล ศรีเอี่ยมกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสวนเกษตรแม่ทองหยิบ ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง ดำเนินโครงการพัฒนาเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบสำหรับเรือหางยาวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีคลองอย่างยั่งยืนในพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี โดยเป้าหมายดำเนินการในระยะ 5 ปี ปีละ 5 ลำ รวม 25 ลำ ซึ่งจะส่งมอบให้ชุมชนชาวดำเนินสะดวกนำไปใช้ในคลองดำเนินสะดวก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีคลองในพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวกไปสู่การพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ยกระดับคลองดำเนินสะดวกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพที่มีมาตรฐานการบริการท่องเที่ยวทางน้ำในระดับสากล มีศักยภาพต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ และยังยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบที่จะใช้เป็นแนวทางนำไปขยายผลการท่องเที่ยววิถีคลองในพื้นที่อื่นๆ
จากข้อมูลพบว่า ตลาดน้ำคลองดำเนินสะดวก ในช่วงสถานการณ์ท่องเที่ยวปกติจะมีเรือหางยาวท่องเที่ยวให้บริการต่อวันกว่า 700 ลำ และมีข้อมูลปี 2561 จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 จังหวัดราชบุรีที่ร่วมกับกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ และเทศบาลตำบลดำเนินสะดวก ดำเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน บริเวณตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักต้นทางเข้าคลองตลาดน้ำดำเนินสะดวก พบว่าคุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็กบริเวณนั้น ในช่วงที่มีค่าสูงสุดวัดปริมาณได้ถึง 87 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่าปกติที่กำหนดต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA จึงได้เข้ามาพัฒนาต้นแบบเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้มอเตอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมัน ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกให้คนในชุมชนนำไปประยุกต์ใช้ในการต่อเรือใหม่ ซึ่งดำเนินการเป็นไปตามข้อบังคับของกรมเจ้าท่า และมีแผนงานสนับสนุน ตั้งแต่ปี 2564 – 2568 ปีละ 5 ลำ ลำละ 250,000.-บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,250,000.-บาท (หนึ่งล้านสองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) รวม 5 ปี จำนวน 25 ลำ
สำหรับอุปกรณ์ เรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะประกอบไปด้วย แผงเซลส์แสงอาทิตย์ (Solar Panel) ขนาด 375 วัตต์ โดยจะติดตั้งไว้ที่หลังคาของลำเรือ ต่อเข้ากับระบบจัดการแบบแบตเตอรี่ เพื่อชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ ขนาด 80 แอมป์ 72 โวลต์ จากนั้นต่อสายไปยังมอเตอร์ขับเคลื่อน ขนาด 10 แรงม้า พร้อมชุดอุปกรณ์ในการควบคุมการขับเคลื่อน เดินหน้า ถอยหลัง และ เกียร์ว่าง และชุดคันเร่ง เพื่อขับเคลื่อน ด้วยใบพัดเรือหางยาว และเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประกอบขึ้นสามารถอัดประจุไฟฟ้าแบบปกติ (Normal Charge) ได้ โดยใช้เวลา 4 ชั่วโมง สามารถเดินทางได้ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร มีความเร็วสูงสุดประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า วันนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้ง 9 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานพันธมิตรที่มีความสำคัญในส่วนของการลงนามความร่วมมือในวันนี้ เป็นการพัฒนาต้นแบบรูปแบบการเดินทางรูปแบบใหม่โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ คือ ในการเอาเรือหางยาวมาติดพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์และนำมาใช้ในส่วนของการท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นรูปแบบใหม่ที่ถือว่าตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิงแวดล้อม ที่สำคัญ ในส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อพท. กรมเจ้าท่า กรมการท่องเที่ยว หลัดกระทรวงการท่องเที่ยว และในส่วนของจังหวัดต่างๆ ก็จะมีการทำงานในเชิงบูรณาการแบบเชิงรุก เพื่อตอบโจทย์ประสบการณ์การท่องเที่ยวผ่านการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมแบบนี้อีก ในทุกๆโหมดในการเดินทางท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่จะเป็นเรือหางยาว อีกหน่อยเราจะได้เห็นเรืออัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ หรือ จะเป็นรถ ซึ่งตอนนี้ทาง ททท. เองก็อยู่ในแผนการดำเนินโครงการแบบนี้ กับพันธมิตรอีกในหลายหน่อยงานต่อไป
ด้านนายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า วันนี้เราได้นำเรือที่ได้ทำการทดลองปรับปรุงนำมาวิ่งภายในคลองดำเนินสะดวก จากเดิมที่มีปัญหาเรื่องเสียงดัง ตอนนี้เราไม่ได้ยินเสียงดังของเครื่องยนต์แล้ว เพราะว่าเป็นเรือที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และอีกปัญหาที่พบคือเดิมจะมีควันจากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ค่อนข้างจะเยอะและเกิดมลพิษทางอากาศ แต่หลังจากที่เราให้มาใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อนจึงไม่มีควันที่สร้างปัญหามลพิษเลย ซึ่งการเดือนทางด้วยเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นี้จะไม่ได้ยินเสียงดังของเครื่องยนต์ สามารถพูดคุยกัน หรือ ฟังคำบรรยายจากไกด์นำเที่ยวของเราได้ในขณะนั่งเรือ โดยที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้รับมอบหมายให้ทำการพัฒนาเรือหางยาวต้นแบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โดยทาง กฟภ. จะทำการส่งมอบเรือทีทำการพัฒนาแล้วปีละ 5 ลำ โดยเริ่มส่งมอบชุดแรกต้นปี 2565 และ จะมอบปีละ 5 ลำจนครบ 5 ปี รวม 25 ลำ ให้กับทางชุมชนดำเนินสะดวก หลังจากมอบให้ชุมชนแล้วทางกรมเจ้าท่าก็จะต้องตรวจสอบและจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายของกรมเจ้าท่า
นายภาณุมาศ กล่าวอีกว่า เรือพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์นี้มีประโยชน์อย่างมากและประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งปกติเรือเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจะมีค่าใช้จ่ายตกที่วันละ 350 – 400 บาท แต่สำหรับเรือพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์นี้ ถ้าในเวลากลางวันแดดแรงๆ แบบนี้จะสามารถชาร์จไฟด้วยแผงโซล่าเซลที่อยู่บนหลังคาเรือได้ในตัวไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ในกรณีที่ไม่มีแดด ชาร์จไฟฟ้าทั่วไป หรือ จะชาร์จไฟที่บ้านจะเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 50 บาท โดยจะประหยัดถึง 300 – 350 บาทต่อวันเลย ทำให้ชาวเรือมีรายได้ต่อวันที่มากขึ้นตามไปด้วย
Discussion about this post