หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของกัญชงกันมาบ้างแล้วในก่อนหน้านี้ในเรื่องของคุณประโยชน์ในด้านต่างๆมากมาย ทั้งในเรื่องของการสกัดเป็นยา อาหารเสริม น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือน้ำมันหอมระเหยไปจนถึงการใช้ถูนวดบรรเทาอาการต่างๆมากมาย ก่อนหน้านั้นสักประมาณ 4-5 ปีเป็นต้นไป ใครเพาะปลูกพืชชนิดนี้หรือมีไว้ครอบครองก็จะมีความผิด มีโทษต่างๆมากมาย จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2560 พืชชนิดนี้ได้รับการอนุมัติจาก ครม.ให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ในพื้นที่ที่กำหนด โดยจำกัดพื้นที่ 6 จังหวัด 15 อำเภอ ได้แก่
จังหวัดเชียงใหม่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่วาง แม่ริม สะเมิง และแม่แจ่ม
จังหวัดเชียงราย 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เทิง อ.เวียงป่าเป้า และอ.แม่สาย
จังหวัดน่าน 3 อำเภอได้แก่ อ.นาหมื่น อ.สันติสุข และ อ.สองแคว
จังหวัดตาก เฉพาะที่ อ.พบพระ
จังหวัดเพชรบูรณ์ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.หล่มเก่า อ.เขาค้อ และอ.เมือง
จังหวัดแม่ฮ่องสอนในพื้นที่ อ.เมือง
จากกฎกระทรวงในด้านการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 มกราคม 2564 เป็นต้นมา จนก่อเกิดเป็นงานวิจัยที่มีคุณค่าต่างๆมากมาย
ข้อดีของกัญชงมีมากมายมายเลยทีเดียว อาทิ เปลือก สามารถนำมาแปรรูปเป็นเส้นใย ทอเสื้อผ้ามีคุณสมบัติเด่นด้านต้านแบคทีเรีย หรือผ่านกระบวนการแปรรูปให้เป็นเส้นใยไฟเบอร์ที่มีความบริสุทธิ์และมีความเด่นด้านความแข็งแรงกว่าเหล็กและทนความร้อนได้สูง หากนำมาบดละเอียดในรูปผงผลิตเป็นคอนกรีตมีความแข็งแรงและทนไฟ ทนความร้อนได้ดี ในส่วนของใบมีปริมานสาร CBD/THC ต่ำเหมาะแก่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชา ที่ให้รสชาตดีสรรพคุณเกินตัว ทั้งช่วยผ่อนคลาย ช่วยนอนหลับ แก้ปวด บำรุงเลือด นอกจากนี้พบว่าส่วนช่อดอกและเมล็ดที่มีปริมาณสาร CBD/THC สูงสุดขึ้นกับชนิดพันธ์ โดยทั่วไปสาร CBD จะสูงกว่าสาร THC เหมาะแก่การสกัดน้ำมัน เพื่อทำยาและอาหารเสริม หรืออาหารประเภทยา Nutraceutical ดังประกาศในราขกิจจา เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ มี ส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง รวมไปจนถึงอุตสาหกรรมอวกาศและการบินก็ไม่สามารถมองข้ามพืชเศรฐกิจตัวนี้ไปได้ตามข่าวที่ปรากฏในเรื่องการผลิตเครื่องบินเล็กจากใยกัญชง โดยชาวแคนาดา นั่นเองครับ ที่มา usatoday.com ทำให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงไปอย่างแพร่หลายกับคุณสมบัติที่โดดเด่นจากใยกัญชงและหลายส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศก็กำลังจับตาพร้อมดำเนินการวิจัยกันอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการผลิตและทดสอบเส้นใยไฟเบอร์ที่ทำจากใยกัญชงเทียบกับใยไฟเบอร์กลาสอีกด้วย ซึ่งผลการทดสอบนั้นออกมาว่าเส้นใยกัญชงมีความแข็งแรงกว่าใยไฟเบอร์กลาส 25-30% เทียบต่อน้ำหนัก ทำให้ลดการใช้พลังงานได้ และที่สำคัญมีคุณสมบัติดูดกลืนเสียงได้ดีด้วย ส่วนในด้านผลการทดสอบ tensile strength มีความแข็งแรงกว่าหลายเปอร์เซ็นต์ที่เห็นชัดเจนคือ bending strength มากกว่าไฟเบอร์กลาสถึง 30-35% ทีเดียว และยังมีความแข็งแรงกว่าเหล็กหลายเท่า ดังนั้นในอนาคตการใช้ประโยชน์จากใยกัญชงในรูปแบบของวัสดุคอมโพสิท FRP (Fiber Reinforced Polymer) เราจะเริ่มที่ชิ้นส่วนภายในอากาศยานก่อนหรือใช้ผลิตโครงสร้างทั้งหมดของโดรน ทั้งโดรนเชิงพาณิชน์และทางทหาร หรือโครงสร้างอากาศยานทางทหารที่เป็นเทคโนโลยีล่องหนจากคุณสมบัติดูดซับคลื่นเสียงที่ดี (ต้องมีการผลิตทดสอบในหลายๆความถี่ เช่น VHF,UHF, L-Band, S-band, X-band) หรือใช้ลดการแพร่การะจายรังสีจากเครื่องยนต์ของยานยนต์ทางทหารต่างๆ เพื่อลดการตรวจจับด้วยกล้องรังสีความร้อน เป็นต้น ซึ่งหากสามารถทำได้จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการปลูก แปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกิดการขยายตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันหน่วยงานด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่าง GISTDA ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของใยจากกัญชงเช่นกัน โดยได้ริเริ่มจากการนำใยกัญชงมาทดสอบหาคุณสมบัติทั้งด้านความแข็งแรง ทนทาน ด้านความถี่ ด้านอุณภูมิ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านโครงสร้างของอากาศยานไร้คนขับ หรือชิ้นส่วนภายในเครื่องบินซึ่ง GISTDA มีพาร์ทเนอร์ด้านนี้อยู่แล้ว หรือหากมีคุณสมบัติที่เข้ากันได้กับการใช้งานบนอวกาศ ก็เป็นไปได้ที่จะนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในดาวเทียมดวงต่อๆ ไปที่เกิดขึ้นจากการสร้างโดย GISTDA เองและฝีมือคนไทย ในส่วนของขั้นตอนการทดสอบจะเริ่มอย่างไร ทดสอบที่ไหน แอดมินพอจะสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้ครับ
เริ่มจาก…จัดตรียมข้อมูลมาตรฐานการทดสอบด้านคอมโพสิท โดยในเบื้องต้นจะทดสอบ Tensile Strength เป็นอันดับแรก โดยห้องแลป GALAXI ซึ่งได้รับการรับรอง AS9100 ISO17025 และ NADCAP ของ GISTDA
เตรียมวัสดุ ผ้าใยกัญชง (ใยธรรมชาติ)
ขึ้นรูปเป็นแผ่นความหนาตามมาตรฐานทดสอบ
ตัดและเตรียมชิ้นงานให้ได้ตามมาตรฐานการทดสอบ
ทดสอบ Tensile Strength
สรุปผล เปรียบเทียบคุณสมบัติความแข็งแรง Tensile Strength ของใยกัญชงกับ Fiber glass/Carbon Fiber จากฐานข้อมูล
จัดหาและทดลองใช้เส้นใยไฟเบอร์กัญชง (ปัจจุบันในประเทศไทยมีบริษัทที่ผลิตเส้นใยไฟเบอร์จากใยกัญชงคือ บริษัทก้องเกียรติเทกซ์ไทล์ จำกัด) ที่บริสุทธิ์กว่าใยกัญชงที่ใช้ทอผ้าทั่วไป ทั้งนี้จากสรุปผลการทดสอบ หากมีข้อได้เปรียบจริงดังข้อมูลอ้างอิง จะต้องสร้างกลไกในการกระตุ้น การผลิต การใช้วัสดุสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศและการบินให้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรฐกิจใหม่ของประเทศต่อไปครับ เรื่องราวจากใยกัญชงมีความน่าสนใจมาก อนาคตอาจจะค้นพบคุณประโยชน์ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นได้ เทคโนโลยีเมื่อผสานกับงานวิจัยและองค์ความรู้มักจะก่อเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆที่สร้างคุณค่าให้กับประเทศมากมาย แอดมินเอาใจช่วยนักวิจัยทุกท่านนะครับ
** คลิกที่ภาพด้านล่างเพื่อเล่น VDO ทดสอบความแข็งแรงของใยกัญชงที่ผ่านกระบวนการขึ้นรูป
ที่มา : GISTDA
Discussion about this post