ดร.เศรษฐา ตั้งค้าวนิช รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตัวแทนผู้ร่วมคิดค้น นวัตกรรม MENU Delivery Robot หรือ น้องเมนู หุ่นยนต์เพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกล (MENU ย่อมาจาก Medicine + Engineer + Naresuan University) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติคอยติดตามอาการผู้ป่วย และเรื่องการให้บริการ เช่น การส่งอาหาร การส่งยา หรือการพูดคุยกับผู้ป่วยแบบที่เห็นหน้ากัน ใช้หุ่นยนต์เป็นตัวเชื่อม ตัวลดการสัมผัสระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย นั้น ได้เล่าให้ฟังว่า “ครั้งแรกที่ได้รับโทรศัพท์จาก รศ.ดร.สุชาติ แย้มเม่น คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เกี่ยวกับโปรเจคหุ่นยนต์ เราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะนำมาแก้ไขสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบัน ก็ดีใจมากก็รับทำ จำได้ว่าตอนนั้นอาจารย์ทุกท่านช่วยกันฟอร์มทีมแล้วก็เขียน Proposal ขึ้นมา จำได้ว่าน่าจะเที่ยงคืน 2 วัน เราทำงานกันหลังบ้านหลายท่านมาก ผมเป็นเพียงผู้ประสานตรงกลางเลยขออนุญาตมานำเสนอตรงนี้
สำหรับรูปแบบเดิมตอนที่ได้โจทย์มา เราวิเคราะห์ว่าอยากจะทำเป็นหุ่นยนต์ในเชิงลักษณะเป็นคีออส ตั้งอยู่ที่หน้า ARI คลินิค ตอนนั้นเราพยายามจะลดในเรื่องของปัญหาคอขวดที่เข้ามากองอยู่ตรงหน้า ARI คลินิก แล้วก็พยายามจะดูแลป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งคุณหมอ เภสัช บุคลากร เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ เพราะว่าต้องดูแลป้องกันทุก ๆ ท่านไว้ ซึ่งในช่วงนั้น เรากำลังพยายามหาเรื่องของ distancing ตามนโยบาย ก็เลยคิดว่าจะสร้างเป็นตัวคีออสก่อน คือเป็นหุ่นยนต์ที่อยู่กับที่ ก็จะมีคอมพิวเตอร์ และมีการดีไซน์ในเรื่องของการใช้งานของเสียง เพราะว่าตอนนั้นทุก ๆ ท่าน จะกลัวหมดในเรื่องการสัมผัส เราก็จะดูคีย์เวิดร์ดสามารถแก้ไขตรงนี้ได้เราก็ไปนั่งดูว่ามีอะไรบ้าง
ในเรื่องของซาวด์เสียงพูด เราก็เลยดีไซน์และฟอร์มทีมขึ้นมาว่าหุ่นยนต์ตัวนี้จะต้องติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วย หรือคนที่ต้องการมาคัดกรองโดยที่ไร้การสัมผัส พอมาประชุมในที่ประชุมกับอาจารย์ทุก ๆ ท่านก็มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจาก รศ.ดร.สุชาติ แย้มเม่น คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ว่า ไหน ๆ จะเป็นหุ่นยนต์แล้ว ทำให้มันเคลื่อนที่ได้
นอกจากนี้ ศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และ รก.ผอ.โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร, ศ.ดร.ไพศาล มุณีสว่าง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร บอกต่ออีกว่าดีเลย จะได้เอามาส่งน้ำ ส่งยาต่าง ๆ ต่อ เลยเป็นที่มาว่ามันก็จะเปลี่ยนจากดีไซน์เดิมที่ตั้งใจเพียงวางไว้ข้างหน้าเพื่อลดปัญหาคอขวดในการคัดกรอง กลายเป็นการอัพเกรดมาเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ ซึ่งก็ตรงกับโจทย์ที่เราพยายามลดละการสัมผัส แล้วก็เพิ่มระยะห่าง แต่ก็ยังมีการควบคุมและดูแลจากทางบุคลากรทางการแพทย์อย่างไม่ขาดสายเลยจึงมีการดีไซน์ใหม่ จึงเปลี่ยนจากลักษณะของตัวคีออสกลายเป็นหุ่นยนต์ แล้วใช้รถเข็นที่มีอยู่ในสถานพยาบาลอยู่แล้วเป็นตัวตั้งต้น เพราะว่าโจทย์ตรงนี้ที่ได้รับมาจากกองทุนฯ ต้องทำเป็นต้นแบบเพื่อให้เอาตัวนี้เป็น open source นำไปให้โรงพยาบาลอื่น สถาบันอื่นพัฒนาต่อยอดแล้วไปใช้งานต่อ คีย์เวิร์ดคือต้องตั้งราคาถูก แล้วค่อยมองเห็นว่าเราใช้รถเข็นที่เป็นลักษณะการทำงานอยู่ในโรงพยาบาล แล้วก็เสริมด้วยล้อเข้าไป คือ การเลี้ยวแยกระหว่างซ้ายกับขวา
อีกประเด็นหนึ่ง คือ จริง ๆ จะเห็นว่าการดีไซน์ เราก็จะใช้การควบคุมจากรีโมทระยะไกล ซึ่งตอนนั้นตอนที่ทีมงานคุยกัน มีการออกแบบกันหลายแบบ เขียนเป็นตัว Application ในมือถือแล้วก็ทำการสื่อสารไร้สาย WiFi Bluetooth ต่าง ๆ สุดท้ายแล้วเรามองถึงเรื่องของการใช้งานที่ค่อนข้างง่าย เราก็เลยมองในเรื่องของตัวโมดุลของอุปกรณ์พวกวิทยุไร้สาย จะเป็นเครื่องบินบังคับหรืออื่น ๆ ซึ่งจะนำตรงนั้นมาประยุกต์ ข้อดี ก็คือจะเป็นการผูกกันระหว่างอุปกรณ์สื่อสาร แบบ 1 ต่อ 1 เพื่อลดปัญหาในการใช้งาน ซึ่งจากสเปคนี้ ทดลองแล้วสามารถควบคุมจากระยะไกลได้ประมาณ 70 – 100 เมตร แต่ถ้าจากการทดลองจะไกลกว่านี้ได้อีก ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ถ้าเป็นพื้นที่โล่ง พื้นที่ต่าง ๆ ก็จะมีแปรผันกันไป
ด้านอุปกรณ์ทำการประยุกต์แล้วสามารถทำงานได้ดีมาก เราสามารถหาอุปกรณ์มาประกอบได้ง่าย อีกส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้จะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม คือ อุปกรณ์ชุด Tablet จะเป็นตัวบรรจุโปรแกรมในเรื่องของการคัดกรอง กล้องเทอร์โมสแกน เทอร์มอร์เซ็นเซอร์ เราก็เลยเลือกใช้เทอร์มอร์เซ็นเซอร์เป็นกล้องสแกนเข้าไป เขียนโปรแกรมติดต่อ ทำการอัพเดทข้อมูลร่วมกับตัวโปรแกรมคัดกรอง โดยในช่วงงานพระราชทานรับปริญญาที่ผ่านมา หุ่นยนต์ทุกตัวของโครงการฯ นี้ ทั้ง 5 ตัว ได้ถูกนำไปติดตั้งเพื่อทำการคัดกรองอุณหภูมิของผู้สำเร็จการศึกษาที่เข้ามารับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งสามารถใช้งานได้ดีทุกอย่างเป็นอย่างดี หลาย ๆ คนดูแล้วทันสมัย สามารถตอบโจทย์นในเรื่องของการคัดกรองได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับโครงสร้างของปุ่มฉุกเฉิน Emergency Stop และมีเซ็นเซอร์เอาไว้ในการป้องกันการชน หุ่นยนต์นี้สามารถตั้งค่าได้ว่าระยะเวลาที่จะบังคับไปแล้วจะเช็คสิ่งกีดขวางด้านหน้าจะไม่ให้เกินเท่าไหร่ ก็สามารถตั้งค่าได้ผ่านโปรแกรม ที่สำคัญ คือตัวโปรแกรมที่อยู่บรรจุภัณฑ์ใน Tablet เป็นโปรแกรมที่ทำกันมาหลายเวอร์ชั่น ปรับเปลี่ยนแก้ไขจนเริ่มเสถียร สามารถแปลงเสียงได้ เหมือนเราติดต่อสื่อสารกันอยู่ พูดคุยกันอยู่
เราพยายามจะใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ที่สุด เราไม่ได้เจาะอะไรรถเข็นเลย รถเข็นนี้ไม่ได้ถูกเจาะล้อ ดีไซน์ให้ถนอมตัวรถเข็นที่สุด ถ้าเสียยังสามารถเข็นแบบปกติได้โดยที่ไม่กระทบกับโครงสร้างใด ๆ ทั้งสิ้น จากนั้นในโครงสร้างจะมีแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้นาน
เครื่องสแกนอุณหภูมิ มีฟีเจอร์ซ่อนอีก 2 – 3 อย่าง เนื่องจากกล้องสามารถใช้ image ได้ทั้งในส่วนของตัวกล้องเทอร์โมสแกนแล้วก็กล้องที่ติดอยู่กับTablet ก็ได้เช่นกัน เพื่อระบุตัวตนด้วยใบหน้าเพื่อลดการสัมผัส นอกจากนี้ มีการอ่านค่าจากบัตรประชาชน มายืนยันตัวตนก่อนทำแบบคัดกรอง หากเป็นผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้ามาทำการรักษาแล้วก็มีฐานข้อมูลใบหน้าภายใน แค่เอาหน้าไปส่องบอกได้เลยว่าเป็นใครแล้วจากนั้นข้อมูลการวัดไข้ต่าง ๆ ก็ถูกส่งไปยังระบบของโรงพยาบาล สามารถนำข้อมูลไปส่งต่อโดยที่ไม่ต้องสัมผัสใด ๆ ทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าเราได้ใช้เทคโนโลยีดิจิตอล เข้ามาช่วยในเรื่องการใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น
ส่วนโปรแกรมคัดกรองด้วยเสียง จะมีแบบสอบถามที่แปลงจากตัวชีสกระดาษแปลงให้กลายเป็นเสียง และพูดส่งออกมาผ่านลำโพง แล้วคนไข้หรือคนคัดกรองก็ฟัง แล้วตอบคำถามเป็นข้อ ๆ ลักษณะการตอบคำถาม ก็จะตอบง่าย ๆ ว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ เพื่อลดความคลุมเครือต่าง ๆ โดยจะมี AI ข้างหลังอยู่ชุดหนึ่งในการประเมิน แล้วก็จะส่งผลประเมินไปยังส่วนของ Server เบ็ดเสร็จทั้งหมดจะไม่มีการสัมผัสใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ข้อมูลและทุกอย่างสามารถเดินทางผ่านโลกดิจิตอลได้ทั้งหมด” ดร.เศรษฐา ตั้งค้าวนิช รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าให้ฟัง
ที่มา : nu
Discussion about this post