สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานการประชุมวิชาการประจำปี หรือ NAC 2021 ในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “30 ปี สวทช. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac ที่มีการสัมมนาในหัวข้อ “รู้ไว้ไตแข็งแรง ป้องกันและรับมือโรคไตเรื้อรังอย่างถูกวิธี”
ดร.เดโช สุรางค์ศรีรัฐ นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ หรือ A-MED สวทช. เปิดเผยในการสัมมนาว่า ทีมวิจัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ป่วยโรคไต โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่จำเป็นต้องมีการล้างไตหรือการฟอกเลือด ซึ่งมีข้อจำกัดคือต้องเดินทางไปยังสถานพยาบาลและใช้ระยะเวลาในการล้างไตเป็นเวลานาน จึงเริ่มโครงการพัฒนาเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis Machine) มีจุดประสงค์เพื่อทำให้เครื่องล้างไตมีความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการใช้งานได้มากขึ้น
“การล้างไตทางช่องท้องเดิมผู้ป่วยต้องล้างไตวันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งอาจไม่ได้รับความสะดวก เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติที่ทีมวิจัย สวทช. พัฒนามีระบบควบคุมการแลกเปลี่ยนน้ำยาล้างไตแบบอัตโนมัติ สามารถทำงานอัตโนมัติในตอนกลางคืนในช่วงระหว่างนอนได้ โดยผู้ป่วยต่อสายเพียงครั้งเดียวก่อนนอน ทำให้ล้างไตได้สะดวกยิ่งขึ้นและสามารถใช้เวลาช่วงกลางวันในการเรียนหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้”
ดร.เดโช ระบุว่า ปัจจุบันทีมวิจัยพัฒนาเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติเป็นรุ่นที่ 3 เพื่อขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. โดยเป็นการพัฒนาต่อยอดจากเครื่องรุ่นที่ 2 ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานทางไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องล้างไตทางช่องท้องจากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) และผ่านการทดลองในคนระดับนำร่องซึ่งร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเครื่องรุ่นที่ 3 นี้ได้มีการพัฒนาเพิ่มเติมให้มีระบบนำส่งและระบายน้ำยาที่มีประสิทธิภาพและมีระบบควบคุมอุณหภูมิน้ำยาล้างไต รวมถึงเพิ่มการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือและระบบออนไลน์สามารถรายงานผลไปยังแพทย์ได้ทันที โดยทีมวิจัยพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเครื่องล้างไตแบบอัตโนมัติได้มากที่สุด
ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.5 ของประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (ESRD) อย่างน้อย 200,000 บาทต่อคนต่อปี ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้ดำเนินนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก (PD First) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ปัจจุบัน สปสช.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องทดสอบการใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยที่ต้องล้างไตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการล้างไตทางช่องท้องแบบเดิม คาดว่าในอนาคตจะมีความต้องการใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องแบบอัตโนมัติมากขึ้น
Discussion about this post