โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 17.9 ล้านคนในแต่ละปี และหนึ่งในสามของการเสียชีวิตเกิดขึ้นก่อนวัยอันควรในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 70 ปี ในแต่ละปีพบผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยประมาณ 430,000 คน และมีอัตราการเสียชีวิตประมาณปีละ 37,000 ราย โรคหัวใจอาจจะรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจ การวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะแรกเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมช่วยลดอัตราการเสียชีวิต การตรวจโรคโดยการเอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray) สามารถดูความผิดปกติของหัวใจที่พบได้บ่อย เช่น หัวใจโต ภาวะหัวใจวาย นอกจากการสอบถามประวัติโดยละเอียด การตรวจร่างกายการตรวจเลือด และเอกซเรย์ทรวงอกแล้ว การทดสอบพิเศษทางหัวใจต่างๆจะช่วยในการวินิจฉัย เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ เป็นต้น
การแพทย์สมัยใหม่ มีลักษณะพิเศษคือมีการสร้างข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งรวมถึงรูปแบบการถ่ายภาพเอกซเรย์ที่มีความละเอียดสูง ด้วยจำนวนข้อมูลทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในขณะเดียวกันก็รับประกันความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ป่วย
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) และการประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ ทำให้เกิดความหวังว่าจะสามารถปรับปรุงคุณภาพการให้บริการด้านสุขภาพ โดยเป็นระบบช่วยในการตัดสินใจทางการแพทย์ ช่วยให้การวินิจฉัยและการพยากรณ์โรคมีความแม่นยำมากขึ้น และลดภาระของแพทย์
นวัตกรรมการตรวจคัดกรองโรคผ่านภาพเอกซเรย์ทรวงอก “AI Chest 4 All” ผลงานจากความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันทรวงอก โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์อ่านภาพเอกซเรย์อัตโนมัติ เพื่อช่วยเหลืองานด้านการแพทย์ของประเทศไทยในการตรวจคัดกรองโรคผ่านภาพเอกซเรย์ทรวงอก ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ระบบนี้ สามารถบอกได้ว่าภาพเอกซเรย์ทรวงอกของผู้ป่วยที่ถ่ายมานั้น มีความผิดปกติหรือไม่ ถ้าผิดปกติก็จะสามารถวิเคราะห์ต่อไปได้ด้วยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร
AI Chest 4 All ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 สาขาบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น ประเภทขยายผลมาตรฐานการบริการ โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานของรัฐที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรมและเป็นที่พึงพอใจ
รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า AI Chest 4 All เป็นซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่ง AI จะอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ เมื่อเราไปเอกซเรย์ตรวจร่างกายจะได้ภาพถ่ายเอกซเรย์มา ภาพเอกซเรย์นี้จะถูกส่งให้ปัญญาประดิษฐ์ AI Chest 4 All ประมวลผล เมื่อรวมกับเวลาที่ใช้ในการรับและส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต (ความเร็วขึ้นกับผู้ให้บริการ) จะใช้เวลารวมประมาณ 1 วินาที ทั้งนี้เมื่อภาพถ่ายเอกซเรย์ได้รับการประมวลผลเสร็จสิ้น ก็จะส่งผลกลับไปแสดงบนหน้าจอควบคุมเครื่องเอกซเรย์ของโรงพยาบาลนั้น ๆ โดยที่ AI Chest 4 All มีระบบการจัดการคิวทำให้สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นแต่ละ 1 วินาที AI Chest 4 All ปัจจุบันสามารถรองรับได้หลายร้อยโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ทั้งนี้ยังสามารถขยายการให้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
AI Chest 4 All ถูกพัฒนาขึ้นด้วยคนไทย เพื่อคนไทย ต่างจากซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาและนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะระบุอาการของโรคต่าง ๆ ที่อาจไม่ตรงกับความต้องการของแพทย์ผู้ใช้งานในประเทศไทยเท่าที่ควร ทีมผู้พัฒนาจึงได้ปรึกษาหารือร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์เพื่อวิเคราะห์โรคที่เหมาะสำหรับคนไทย โรคที่คนไทยเป็นกันมาก เช่น ความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ความผิดปกติภายในทรวงอก (Intra-thoracic) วัณโรค มะเร็งปอด ซึ่งรวมถึงการตรวจคัดกรองปอดอักเสบ (Pneumonia) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์ความผิดปกติภายนอกทรวงอก (Extra-thoracic) เช่น ความผิดปกติของกระดูก เป็นต้น
ความแม่นยำในการตรวจโรคโดยเฉลี่ยทุกโรคอยู่ประมาณที่ 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ปัจจุบันมีกว่า 200 โรงพยาบาลทั่วประเทศที่นำซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ AI Chest 4 Al ไปใช้ โรงพยาบาลที่มีคอมพิวเตอร์ และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้ AI Chest 4 All ได้ ยิ่งไปกว่านั้น AI Chest 4 All รองรับการเชื่อมต่อโดยตรงกับระบบ PACS (Picture archiving and communication system) ซึ่งระบบที่ใช้เชื่อมต่อ จัดเก็บ และรับส่งข้อมูลภาพทางการแพทย์แบบดิจิทัล ผ่านทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล ทำให้ทราบผลได้ทันทีหลังจากถ่ายเอกซเรย์
AI Chest 4 All ในปัจจุบันสามารถวินิจฉัยโรคหลัก ๆ ได้ เช่น ความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ความผิดปกติภายในทรวงอก (Intra-thoracic) วัณโรค มะเร็งปอด ส่วนในเฟส 2 จะสามารถวิเคราะห์โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) เพิ่ม และแยกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากปอดอักเสบได้ สามารถระบุรอยโรคให้แม่นยำมากขึ้น
ก่อนหน้านี้เราใช้เพียง AI ในการระบุว่าตำแหน่งไหนของภาพเอกซ์เรย์ที่น่าจะเป็นโรค การทำงานร่วมกับแพทย์เพื่อช่วยระบุตำแหน่งโรคในขั้นตอนการพัฒนา AI จะยิ่งเพิ่มความแม่นยำขึ้นไปอีก ในอนาคตเราก็มีการขยายผลการวิเคราะห์โรคจากภาพในรูปแบบอื่น ๆ เช่น CT scan เพื่อวิเคราะห์ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสมอง เช่น stroke ภาวะเส้นเลือดแตกหรือมีเลือดออกในสมอง ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ อื่น ๆ เพื่อช่วยแพทย์ในการวินิจฉัย โรคซึมเศร้า (Depression) อัลไซเมอร์ และอีกมากมายที่เรากำลังทำและให้ประชาชนได้ใช้ฟรี ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อรับใช้ประชาชน และหนึ่งในความภาคภูมิใจของธรรมศาสตร์
ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีด้าน AI พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ช่วยให้บุคลากรทางแพทย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรทางแพทย์จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI เพื่อให้สามารถใช้และร่วมพัฒนาเทคโนโลยี โอกาสที่จะให้การดูแลรักษาทางการแพทย์เฉพาะบุคคลก็มีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยโดยรวม.
Discussion about this post