มทส.เปิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างเครื่องต้นแบบ “การกำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยคลื่นความถี่วิทยุ” สำเร็จ เผยกำจัดแมลงได้ 100% โดยไม่ใช้สารเคมี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิต คงคุณภาพการงอกของเมล็ดพันธุ์ เตรียมขยายผลสู่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รองรับการขยายตัวการผลิตข้าวอินทรีย์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย
รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า ผลงานวิจัยและนวัตกรรม “การกำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยคลื่นความถี่วิทยุ” เป็นผลงานของคณะผู้วิจัย มทส. ที่ได้ร่วมกันวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศโดยเร่งด่วนในเรื่องข้าว โดยศึกษาวิจัยการควบคุมแมลงศัตรูข้าวเปลือก และวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ได้นำเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งประสบความสำเร็จในการกำจัดมอดข้าวสาร มาดัดแปลงและพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูข้าวเปลือก
นับเป็นการวิจัยที่มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืชทั้งในส่วนของเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ สรีรวิทยาของพืช และกีฏวิทยา สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร กับสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งยังเป็นการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างใกล้ชิด ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชื่อมโยงกับสังคมและชุมชน สามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปเผยแพร่ให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.กมลชนก อำนาจกิติกร หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่า โครงการวิจัย “การกำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยคลื่นความถี่วิทยุ” ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของ “ข้าว” พืชเศรษฐกิจหลักในการส่งออกของประเทศ นอกจากนี้ ข้าวยังเป็นอาหารหลักของชาวไทย
จากการเก็บข้อมูลพบว่า หลังการเก็บเกี่ยวขั้นตอนการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวมักมีการสูญเสียทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนมูลค่าทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมจากการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชหลายชนิดในโรงเก็บเมล็ดพันธุ์ ซึ่งส่งผลต่ออัตราการงอก โดยในแต่ละปีสามารถทำความเสียหายให้เมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นจำนวนมาก
จากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของตลาดการผลิตข้าวอินทรีย์ตามกระแสการให้ความสำคัญ ดูแล ห่วงใย และรักสุขภาพของผู้คนในปัจจุบัน ทำให้ความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ปลอดสารเคมีเพิ่มสูงขึ้นตามมา ได้มองถึงปัญหาต้นทางตั้งแต่การเข้าทำลายเมล็ดพันธุ์ของแมลงศัตรูพืชและการสูญเสียคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวระหว่างการเก็บรักษา ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาในปัจจุบันมักจะใช้สารเคมีในการควบคุมแมลงศัตรูข้าวเปลือกเหล่านี้ ทำให้ไม่สามารถนำเมล็ดพันธุ์ข้าวดังกล่าวมาใช้ในระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ได้
และโดยทั่วไปการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นเวลานานปัญหาตามมาคือ การเกิดมอดและแมลงศัตรูที่มากัดกินและวางไข่ไว้ในเมล็ดพันธุ์ข้าว ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกมักใช้วิธีการเคลือบหรือรมควันด้วยสารเคมี ต้องใช้เวลานานกว่า 5-7 วัน ทำการรมยาทุกๆ 2 เดือน และยังต้องใช้พื้นที่จัดเก็บในขั้นตอนการรมควันขนาดใหญ่ ทั้งส่งผลลดการงอกของเมล็ดพันธุ์และยังเป็นตัวการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศโลก ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
คณะผู้วิจัยได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ของไทย จึงได้ศึกษาและค้นคว้าข้อมูลเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาการกำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี และยังคงคุณภาพของการงอกที่สูงขึ้นกับข้าวพันธุ์ที่มีความสำคัญมากทางเศรษฐกิจของไทย 6 พันธุ์ คือ ขาวดอกมะลิ 105 กข 15 กข 6 กข 31 ปทุมธานี 1 และสันป่าตอง 1 ด้วยการนำเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุซึ่งประสบความสำเร็จในการกำจัดมอดข้าวสารและแมลงศัตรูพืชมาดัดแปลงและพัฒนาต่อยอด ให้สามารถใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูข้าวเปลือกที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ผีเสื้อข้าวเปลือก มอดหัวป้อม และด้วงงวง
สำหรับ “เครื่องกำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยคลื่นความถี่วิทยุ” ที่ใช้กำจัดศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ เป็นผลงานของ รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และคณะ ซึ่งเป็นต้นแบบนวัตกรรมเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ที่สะดวกต่อการใช้งาน มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดเวลา สามารถรองรับการผลิตข้าวอินทรีย์แปลงใหญ่ในอนาคต ด้วยเทคนิคการกำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยคลื่นความถี่วิทยุระหว่าง 31.25-41.25 MHz โดยมีอัตราการไหลอยู่ที่ประมาณ 300 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ต้นทุนการผลิตเครื่องต้นแบบอยู่ที่ 450,000 บาท
สำหรับอายุการใช้งาน 4 ปี ค่าไฟฟ้า 80 บาท/ตัน เกิดค่าใช้จ่ายในการกำจัดแมลงอยู่ที่ประมาณ 84 บาท/ตัน ซึ่งต่ำกว่าการใช้สารเคมีซึ่งมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 84-190 บาท/ตัน โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านเครื่องฆ่าแมลงดังกล่าว สามารถกำจัดแมลงได้ 100% ภายหลังจากการผ่านคลื่นวิทยุแล้วเป็นเวลา 63 วัน
ถือเป็นเทคโนโลยีแรกๆ ที่มีการยืนยันประเมินคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ผลการวิจัยยืนยันชัดเจนว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการกำจัดแมลงด้วยวิธีนี้ไม่มีความเสียหายระดับเซลล์ รวมทั้งไม่กระทบต่ออายุการเก็บรักษา การเจริญเติบโต และผลผลิตของข้าวที่มีความสำคัญมากทางเศรษฐกิจของไทย
จากผลสำเร็จของโครงการวิจัยจะนำไปสู่การเผยแพร่เทคโนโลยีนี้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้ผลการวิจัยในการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติต่อไป
Discussion about this post