นวัตกรรมนักวิจัยไทย “เครื่องประเมินความสมดุลแรงกดน้ำหนักพร้อมการสื่อสารแบบไร้สาย” นอกจากช่วยบุคลากรทางการแพทย์วินิจฉัยความผิดปกติจากโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยเก็บข้อมูลไว้ในประเทศไทย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนสนับสนุนคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการวิจัยแบบบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม ในการขับเคลื่อนงานวิจัยที่มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งโครงการได้มีพัฒนาระบบทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องทั้งภาวะฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ และจากโรคภัยไข้เจ็บโดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ
“โครงการพัฒนาเครื่องประเมินความสมดุลแรงกดน้ำหนักพร้อมการสื่อสารแบบไร้สาย” ผลงานของ “รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ ธีรอำพน” จากสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พัฒนาขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับบุคลากรทางแพทย์ ในการวัดแรงกด ณ บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง เสียการทรงตัวจากหลอดเลือดในสมองมีภาวะตีบ อุดตัน หรือแตกทำให้เนื้อเยี่อในสมองถูกทำลาย การวินิจฉัยอย่างที่ถูกต้องและรวดเร็วจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยและลดภาวะพิการและทุพพลภาพได้
สำหรับการวิจัยดังกล่าว ผู้วิจัยได้มีการพัฒนาเครื่องประเมินความสมดุลแรงกดน้ำหนักพร้อมการสื่อสารแบบไร้สาย สำหรับโทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอยด์ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเครื่องฯ ไปใช้ ก่อนที่จะผลิตและ ทดสอบความแม่นยำ เที่ยงตรง และประสิทธิภาพของตัวเครื่องฯ และได้นำส่งให้ผู้เชี่ยวชาญทดสอบเพื่อประเมินความเป็นได้ในการใช้งานแล้ว 2 ทีมจำนวน 10 เครื่อง คือ ทีมนักกายภาพ โรงพยาบาลสันทราย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และทีมนักกายภาพ โรงพยาบาลสารภีบวรพัฒนา อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ผลการทดสอบพบว่า อุปกรณ์สามารถวัด Weight balance ของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนจุดเด่นของงานวิจัยนี้ คือ เครื่องสามารถส่งข้อมูลเข้ามือถือระบบแอนดรอยด์ได้ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถนำข้อมูลการลงน้ำหนักเท้าแต่ละข้างของคนไข้ ไปใช้ประกอบการวินิจฉัยความผิดปกติ หรือใช้ประกอบการฟื้นฟูผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และที่สำคัญเครื่องดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นในประเทศโดยคนไทย จึงเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศไทย ข้อมูลซึ่งไม่สามารถประเมินค่าได้ทั้งหมดจะถูกจัดเก็บไว้ในประเทศ สามารถพัฒนาต่อยอดหรือเสริมสมรรถนะของระบบได้เองตามความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันผลงานวิจัยนี้มีการขยายผลเชิงพาณิชย์แล้วทั้งในระดับโรงพยาบาล และภาคครัวเรือน เพื่อเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการวินิจฉัย และฝึกกายภาพสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องปรับการลงน้ำหนักเท้าให้สมดุล
Discussion about this post