กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นกองทุนชั้นนำในการผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ การส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานของภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไป ในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ต่อการให้บริการสาธารณะและไม่เป็นการแสวงหากำไร โดยไม่เป็นการทำลายการแข่งขันอันพึงมีตามปกติวิสัยของกิจการภาคเอกชน
ผศ.ดร. ปิยะ กิตติภาดากุล หัวหน้าภาควิชาพืชไร่นาคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้ศึกษาพบว่ามันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรกว่า 5.3 แสน ครอบคลุมพื้นที่ 50 จังหวัด รวมเนื้อที่เพาะปลูก 9.16 ล้านไร่ ผลผลิต 30.1 ล้านตัน ส่งผลให้ประเทศไทยมีผลผลิตมันสำปะหลังมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก และได้ลงพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ พบว่า ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตสูงสุด เหตุเพราะ ขาดศูนย์กลางข้อมูลเผยแพร่ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะองค์ความรู้ต่าง ๆ
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการยื่นเสนอโครงการการวิจัยและพัฒนาระบบสนับสนุนการปลูกอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและคุณภาพของมันสำปะหลัง เพื่อขอรับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยการใช้นวัตกรรมการพัฒนาคุณภาพ ส่งเสริมการตลาด ช่วยลดค่าใช้จ่ายสร้างโอกาสความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรไทย รวมทั้งการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ไปสู่เกษตรอัจฉริยะ
ภายใต้การสนับสนุนทุนของกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ จึงทำให้ ดร.ปิยะ และคณะผู้วิจัย สามารถเดินหน้าโครงการฯ จนประสบความสำเร็จ และนำมาสู่การสร้างแอพพลิเคชัน icassava ที่มีระบบศูนย์กลางความรู้ และมีเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง อันจะส่งผลให้การปลูกมันสำปะหลัง ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น
ดร.ปิยะ ชี้ว่า แอปพลิเคชัน icassava เป็นเครื่องมือเผยแพร่ความรู้ด้านมันสำปะหลัง แชร์ประสบการณ์ ทักษะ การปลูกการจัดการแปลงปลูก ด้วยฟังก์ชันหลักที่ประกอบด้วย
1. วิธีจำแนกพันธุ์ เป็นฟังก์ชันสำหรับช่วยเกษตรกร ผู้ปลูกมันสำปะหลังในการจำแนกพันธุ์มันสำปะหลังโดยเลือกลักษณะพันธุ์ที่สำคัญของมันสำปะหลังจากสองส่วนหลัก ๆ คือ สียอด (สีใบอ่อน) และสีก้านใบ ระบบจะแสดงรายละเอียดของพันธุ์มันสำปะหลังที่ตรงกับลักษณะพันธุ์ที่เลือก
2. แปลงของฉัน โดยเกษตรกรจะต้องเป็นสมาชิกและเข้าสู่ระบบเพื่อบันทึกพื้นที่ปลูก จำนวนแปลง สร้างปฏิทินการปลูก และดูระดับความแข็งแรงของมันสำปะหลัง
3. เตือนภัยโรคแมลง เป็นฟังก์ชันที่ช่วยในการแจ้งเตือนภัยให้เกษตรกรสมาชิก ในกรณีที่พบว่าเกิดโรคภัยต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อมันสำปะหลังที่ปลูก ซึ่งจะมีการแจ้งเตือนภัยโรคแมลงทั้งทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชันบนมือถือ
4. ข่าวสาร โดยรวบรวมข้อมูลข่าวสารน่าสนใจเกี่ยวกับมันสำปะหลัง เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารกเปิดดูได้ง่าย
5. กระดานถาม-ตอบ ประกอบด้วย FAQ คำถามที่พบบ่อย การใช้งานระบบ เทคนิคการปลูก และอื่น ๆ ที่ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลได้อย่างสะดวก
6. องค์ความรู้ เกษตรกรผู้ใช้งานสามารถสืบค้นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์โรค และองค์ความรู้ทั่วไปของมันสำปะหลังได้โดยง่าย
จากการพัฒนาดังกล่าว ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้อย่างดี ทำให้สามารถติดตามความสมบูรณ์ของต้นมันสำปะหลัง และจัดการแปลงปลูกได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างได้อย่างทันท่วงที และนำไปสู่การได้ผลผลิตในปริมาณที่ควรจะเป็น อันนำมาสู่รายได้ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะการเล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยพัฒนาเกษตรไทยสู่ยุค 4.0 ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้ให้การอุดหนุนทุนจนเกิดผลงานการวิจัยพัฒนา จนนำมาสู่การสร้างอนาคตที่ดีให้แก่เกษตรกร ดังเช่น โครงการการวิจัยและพัฒนาระบบสนับสนุนการปลูกอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและคุณภาพของมันสำปะหลัง ได้ก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ตามการพัฒนาประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”
Discussion about this post