มังคุด ถือเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกของมังคุดในเดือนมกราคมถึงตุลาคมที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 17,059 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเริ่มต้นนำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ผลิตอาหารด้านการเกษตรต่อไป ทำให้คณะนักวิจัยของ รศ.ดร.ปานจิต มุสิก จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้เริ่มต้นการวิจัยโครงการพัฒนาระบบจัดการน้ำสวนมังคุดแบบ Smart farming เพื่อการผลิตมังคุดให้มีคุณภาพ ในพื้นที่ตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ประจำปีงบประมาณ 2563
รศ.ดร.ปานจิต ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำงานวิจัยโครงการนี้ว่า มาจากปัญหาของเกษตรกรที่ต้องการนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาเพิ่มผลผลิตมังคุดให้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมังคุดถือเป็นผลไม้ที่มีการปลูกมากในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นรายได้หลักของจังหวัด ดังนั้น การจัดทำงานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาคุณภาพทั้งในด้านของผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น
งานวิจัยชิ้นนี้ ได้ทำในแปลงวิจัยสวนมังคุดของเกษตรกร 3 แปลง บริเวณแหล่งน้ำมีไว้ใช้ตลอดทั้งปี ผ่านระบบท่อจ่ายน้ำภายในสวนเพื่อส่งน้ำจากแหล่งน้ำสู่ปั๊มน้ำ ปั๊มน้ำสู่ท่อหลักและท่อรองไปยังสปริงเกอร์จ่ายน้ำให้มังคุด โดยมีระบบควบคุมการจ่ายน้ำ ที่เชื่อมต่อกับวงจรเซ็นเซอร์ความชื้นและอุณหภูมิ และยังเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เพื่อสั่งการให้เปิด-ปิดปั๊มน้ำ หรือสามารถตั้งเวลาได้ตามความต้องการของเกษตรกรผ่านสมาร์ทโฟน พร้อมกันนี้ ยังมีระบบการอ่านและบันทึกข้อมูลจากเซ็นเซอร์วัดความชื้นและอุณหภูมิตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง ส่งผลให้ช่วยลดภาระและระยะเวลาในการดูแลสวนของเกษตรกร จากเดิมที่ต้องใช้เวลารดน้ำถึง 7 วันในแต่ละแปลง เหลือเพียงแค่ 30 นาทีเท่านั้น ซึ่งเกษตรกรก็สามารถนำเวลาไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้น เช่น การให้ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่ม ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช การดูแลหลังการเก็บเกี่ยว และอื่นๆ
ผลจากการทำงานวิจัยในครั้งนี้พบว่า จำนวนผลผลิตของมังคุดในสวนนั้นดีมากกว่าเดิมซึ่งมาจากการวัดผลการเจริญเติบโตของมังคุดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ในสวนมังคุดทั้ง 3 แปลง เช่น มังคุดสวนนางลำยอง พานทอง พื้นที่ 2 ไร่ ผลผลิต 731 กิโลกรัมต่อไร่มีขนาด 65-74 กรัมต่อผล มังคุดสวนของ นายเธียรวิชญ์ ชูแก้ว พื้นที่ 6 ไร่ ผลผลิต 995 กิโลกรัมต่อไร่มีผลผลิตผิวเป็นมันไม่เกิดลาย ผลสีเขี่ยวทั้งลูกและมีขนาดมากกว่า 90 กรัมต่อผล และมังคุดสวนนางสุณีย์ วีระปัญญา พื้นที่ 6 ไร่ ได้ผลผลิต 817 กิโลกรัมต่อไร่ มีขนาด 75-89 กรัมต่อผล
ขณะเดียวกัน ระบบจัดการน้ำสวนไม้ผลแบบ Smart farming ช่วยในการให้น้ำแก่มังคุดแบบฉีดสเปรย์ละอองน้ำในอากาศเพื่อทำให้อากาศในสวนมังคุดมีอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ตามความเหมาะสมของมังคุด การฉีดละอองน้ำในอากาศสามารถป้องกันการเข้าทำลายและการระบาดของเพลี้ยไฟในสวน ซึ่งเพลี้ยไฟเป็นแมลงศัตรูของมังคุดได้ และยังช่วยในการให้น้ำแก่ลำต้นมังคุดเพื่อทำให้มังคุดเจริญเติบโตทางใบ ควบคุมปริมาณดอก ส่งเสริมการพัฒนาของผล และเพิ่มปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพ การให้น้ำในปริมาณที่เพียงพอ มีความสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาที่มังคุดติดผล ยังช่วยแก้ปัญหาไม่ให้มังคุดเนื้อแก้วและยางไหลอีกด้วย และยังส่งผลให้เกษตรกรต้องการขยายงานวิจัยชิ้นนี้ไปยังสวนมังคุดแห่งอื่นมากขึ้น เพื่อให้เกิดการจัดการในรูปแบบของ Smart farming ได้ต่อไป
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบจัดการน้ำสวนมังคุดแบบ Smart farming จะมีผลดีต่อระดับจังหวัด ที่สามารถช่วยเพิ่มคุณภาพของผลผลิตมังคุด ที่เป็นพืชเศรษฐกิจได้ เกษตรกรสวนมังคุดเองก็สามารถพัฒนาตนเองได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือโครงการนี้ควรได้รับการส่งเสริมหรือต่อยอดในปีถัดไปหรือในอนาคต จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการเกษตรหรือการวิจัย เพื่อให้งานวิจัยชิ้นนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาคุณผลผลิตและชีวิตของเกษตรกรได้ต่อไปในอนาคต และมีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น
Discussion about this post