DTAC จับมือ ‘ไดซิน-เนคเทค’ ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ด้วยเทคโนโลยี 5G ต่อยอดเป็นต้นแบบ ดันไทยสู่ฮับซัพพลายเชนยานยนต์ในเอเชีย
นายธนินทร์ ลี้โกมลชัย ประธาน บริษัท ไดซิน จำกัด กล่าวว่า “จากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำมามากกว่า 42 ปี สู่การเผชิญหน้าวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ ที่ต้องปรับตัวสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) โดยความร่วมมือกับเนคแทคและดีแทคเป็นก้าวแรกของเราที่นำ 5G มาแก้ปัญหา (Pain point) จากกระบวนการผลิตด้วย AGV (Automated Guided Vehicle) รถลำเลียงชิ้นส่วนในกระบวนการผลิตเดิมซึ่งไม่สามารถควบคุมการผลิตในแม่นยำ โดยเฉพาะการติดตามตำแหน่งทำให้เกิดการสูญเสียเวลาในการผลิต ทำให้เกิดต้นทุนในการขนส่งชิ้นส่วนภายในโรงงานที่ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ และอาจจะทำให้เกิดอันตรายจากการขนส่งที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย
ในกระบวนการผลิตไดซินได้นำ AGV หรือรถลำเลียงชิ้นส่วนซึ่งเป็นหัวใจหลักของกระบวนการผลิต ที่กำหนดเส้นทางการเคลื่อนที่และหยุดได้ด้วยแถบแม่เหล็กซึ่งมีผลต่อการผลิตได้ตามเป้าหมาย แต่ถ้าต้องการความแม่นยำและเพิ่มระบบติดตามแบบเรียลไทม์ รวมทั้งกำหนดเส้นทาง (mapping) อย่างแน่นอน AGV แบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์กระบวนการผลิตได้อีกต่อไป โดยเฉพาะยุคที่การแข่งขันสูงและต้องลดการสูญเสียเวลาซึ่งจะเป็นต้นทุนโดยเฉพาะการเร่งผลิตในวิกฤตโรคระบาด ที่ต้องนำแพลตฟอร์มดิจิทัลและ 5G มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ดังนั้น โซลูชัน 5G ที่สามารถรับส่งข้อมูลได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ จะมาตอบโจทย์การเป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) เรื่องควบคุมอัตโนมัติและเซ็นเซอร์ ในรูปแบบ Internet of Things (IoT) ที่สามารถพัฒนาสู่ IoTอื่นๆ ร่วมกัน และสามารถนำดาต้าส่งเข้าระบบคลาวด์และจะนำมาวิเคราะห์ (Data Analytics) และรองรับ Big data เพื่อพัฒนาสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ สำหรับ AGV ของไดซินจะติดตั้งซิมดีแทคเพื่อส่งสัญญาณ 5G สู่แพลตฟอร์มในการใช้งานลำเลียงชิ้นส่วนเข้าสู่แต่ละกระบวนการผลิตอย่างแม่นยำ ไม่ต้องใช้คนมาเฝ้าระวังในการจอดเสีย หรือการสูญเสียเวลา
ระบบติดตามตำแหน่งที่ใช้ในความร่วมมือนี้ เป็นผลงานวิจัยของทีมวิจัยระบบระบุตำแหน่งและบ่งชี้อัตโนมัติ (LAI) เนคเทค สวทช.ที่มีชื่อเรียกว่า แพลตฟอร์ม “อยู่ไหน” ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อส่งข้อมูลตำแหน่งปัจจุบันและสถานะการทำงานของรถ AGV ผ่านเครือข่าย 5G ของทางดีแทคไปยังเซิร์ฟเวอร์ของแพลตฟอร์ม ในรูปแบบ Internet of Things (IoT) ที่นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของ AGV เชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลผ่าน 5G ทำให้ทีมงานไดซินสามารถใช้งาน AGV ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และใช้ดาต้ามากำหนดจำนวนรอบการวิ่งในกระบวนการผลิต การควบคุมเวลา ผ่านทางเครือข่าย 5G ของดีแทคได้
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (เนคเทค สวทช.) กล่าวว่า “เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีเครือข่ายการสื่อสาร 5G ว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีศักยภาพในการผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น เราเล็งเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศมีความจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อก้าวไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 มิเช่นนั้นจะไม่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ซึ่งต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ 5G, Internet of Things, Big Data, Artificial Intelligence มาใช้งาน ในช่วงเริ่มต้น ผู้ประกอบการอาจยังไม่มั่นใจในการลงทุนใช้เทคโนโลยี ทางเนคเทค สวทช. จึงร่วมกับพันธมิตร เช่น ดีแทค สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อพิสูจน์ในภาคอุตสาหกรรมเห็นประโยชน์ และความคุ้มค่าของการลงทุนกับเทคโนโลยี และหวังว่าจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังโรงงานอื่นๆ ในอุตสาหกรรมที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน สำหรับงบประมาณในการดำเนินการทดลอง 5G Use Case สำหรับโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) นี้ เนคเทค สวทช. ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)”
นายกฤษณ์ ประพัทธศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “จากข้อมูลโดยวิจัยกรุงศรีในปี 2564-2565 คาดว่าการผลิตยานยนต์ในประเทศจะฟื้นตัวโดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-4% ต่อปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์โลก การร่วมมือกับไดซิน และเนคเทค สวทช. ในครั้งนี้ เป็นการที่ดีแทค บิสิเนสนำเทคโนโลยี 5G ต่อยอดจากการใช้ระบบเครื่องจักรการผลิตที่มีอยู่เดิมด้วยการนำเครือข่าย การใช้ดาต้าเรียลไทม์ และพัฒนาไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ พร้อมเทคโนโลยี 5G ที่เข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลในการวิเคราะห์ นำไปสู่นวัตกรรม การพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดย 5G Use case ที่ดีแทคได้มีโอกาสร่วมงานกับไดซินและเนคเทค สวทช. นี้ จะถูกพัฒนาเป็นโรงงานต้นแบบโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) เพื่อช่วยโรงงานอื่นๆ ในไทยได้พัฒนาต่อยอดต่อไป
Discussion about this post