“PhytFoon” (ไฟท์ฝุ่น) ผลิตภัณฑ์สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5 ผลงานวิจัยของอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ โดยบริษัท เฮิร์บ การ์เดียน จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพภายใต้การบ่มเพาะของ CU Pharmacy Enterprise คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ CU Innovation Hub คว้ารางวัลเหรียญทองการประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ “IWIS 2021” International Warsaw Invention Show 2021 ด้วยความโดดเด่นของนวัตกรรมจากงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับว่าสามารถลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้จริง เพื่อสุขภาพของประชาชน
ฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 เป็นพาหะของโรคต่างๆ และนำพาสิ่งที่เป็นอันตรายอื่นๆ เข้าสู่ร่างกาย สิ่งที่ติดมากับฝุ่นอาจเป็นโลหะหนักจากรถยนต์ มลพิษจากการขนส่งต่างๆ ซึ่งฝุ่นไม่ได้ทำลายแค่ระบบทางเดินหายใจ แต่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากทางตา ผิวหนัง และสามารถเข้าไปจนถึงถุงลมและเลือดได้ เมื่อทราบว่าฝุ่นเป็นสาเหตุของอันตรายต่างๆ จึงควรแก้ปัญหาที่ต้นทางโดยปกป้องตนเองจากฝุ่น
สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5 “PhytFoon” (ไฟท์ฝุ่น) ผลงานนวัตกรรมทางสุขภาพที่พัฒนาโดย ศ.ภญ.ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง รศ.ภญ.ร.ท.หญิง ดร.ภัสราภา โตวิวัฒน์ และ อ.ภก.ดร.วันชัย จงเจริญ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5 ได้เป็นอย่างดี โดยสารผสมใน สเปรย์ที่คิดค้นขึ้นสามารถดักจับฝุ่น PM2.5 ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศให้ตกลงสู่พื้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้รับการต่อยอดจากภาคเอกชน โดยบริษัท เอส.ที.โพรเทค ใช้สิทธิในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5 “PhytFoon” เพื่อคนไทยใช้งานมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา นับเป็นผลิตภัณฑ์แรกในประเทศไทยที่มีผลการวิจัยจากจุฬาฯ ยืนยันว่ามีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่น PM2.5 และสามารถลดฝุ่นได้ด้วยเทคโนโลยีที่คิดค้นพัฒนาโดยนักวิจัยไทย
ศ.ภญ.ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง ผู้พัฒนานวัตกรรม “PhytFoon” เปิดเผยว่า นวัตกรรมนี้เกิดจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของคนเมือง จึงจุดประกายความคิดให้พัฒนานวัตกรรมนี้ขึ้นซึ่งเกิดจากการทำงานวิจัยร่วมกันของอาจารย์ นักวิจัย และนิสิตจุฬาฯ ภายใต้บริษัท เฮิร์บ การ์เดียน จำกัด และอาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ การส่งผลงานนวัตกรรมเข้าประกวดในเวทีนานาชาติครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีการเตรียมข้อมูล รายละเอียดคำขออนุสิทธิ ภาพประกอบ วีดิโอต่างๆ ที่เป็นข้อมูลสนับสนุนเกี่ยวกับนวัตกรรมทั้งหมด ใช้เวลาเตรียมการราวสองเดือน
“รางวัลสำหรับนักวิจัยคือการที่นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมีผู้สนใจนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้น การที่นวัตกรรมได้รับรางวัลเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจมาก รางวัลนี้เป็นความใฝ่ฝันของนักวิจัยทุกคน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่านวัตกรรมนี้ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น” ศ.ภญ.ร.ต.อ.หญิงดร.สุชาดา กล่าว
อ.ภก.ดร.วันชัย จงเจริญ ผู้ร่วมพัฒนา “PhytFoon” กล่าวว่า “นวัตกรรมนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ฝุ่น PM2.5 กำลังเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเมือง นวัตกรรมที่เราพัฒนาขึ้นนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ มีสาขาที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาที่ลงลึกในศาสตร์ของตนเอง ความร่วมมือร่วมใจกันทำงานเป็นทีมทำให้ผลงานประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลในครั้งนี้”
รศ.ภญ.ร.ท.หญิง ดร.ภัสราภา ผู้ร่วมพัฒนาสเปรย์ลดฝุ่น กล่าวเสริมว่า “ดีใจที่งานวิจัยของเรามีโอกาสได้นำไปใช้ประโยชน์จริงๆ ตามเป้าหมายของจุฬาฯ ในการนำนวัตกรรมสู่สังคม ทำให้งานวิจัย “จากหิ้งไปสู่ห้าง” การทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยของเราเป็นความภาคภูมิใจของนักวิจัย อยากให้รางวัลนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคน และเป็นตัวอย่างให้กับนักวิจัยคนอื่นๆ ที่เจออุปสรรค ให้มุ่งมั่นตั้งใจจะก้าวข้ามผ่านไปได้ ซึ่งเราทั้งสามก็พร้อมที่จะให้ข้อมูล ประสบการณ์ และคำแนะนำดีๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ทำงานด้านนวัตกรรม”
ผลิตภัณฑ์สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5 “PhytFoon ไฟท์ฝุ่น” นอกจากจะช่วยลดฝุ่นแล้ว ยังช่วยในเรื่องกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ในอากาศด้วย ปัจจุบันได้เพิ่มสเปรย์ 2 กลิ่นใหม่ คือ กลิ่น Lavender และกลิ่น Blossom Bloom เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ชื่นชอบกลิ่นต่างๆ ได้เลือกใช้อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น มีวางจำหน่ายที่โอสถศาลา จุฬาฯ และช่องทางออนไลน์ Lazada และ Shopee
หรือติดต่อได้ทาง Line@: @phytfoon Facebook: https://www.facebook.com/phytfoonspray
Instagram: phytfoon_official
Discussion about this post