กรรมาธิการการพลังงานลงพื้นที่เชียงคาน สัมมนา ระบบไฟฟ้าลงดิน สร้างความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินประชาชน สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้ประเทศ พร้อมปรับทัศนียภาพให้แหล่งท่องเที่ยวงามตา พร้อมแนะใช้หม้อแปลงไฟฟ้าจมน้ำนวัตกรรมใหม่ของไทย ป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน สร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้เมืองไทย
นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร นายธารา ปิตุเตชะ รองประธานกรรมาธิการ นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ เลขานุการคณะกรรมาธิการ และคณะฯดำเนินการจัดการสัมมนา “ระบบไฟฟ้าใต้ดินกับความปลอดภัยด้านอัคคีภัย และการประหยัดพลังแบบเสถึยรภาพ” โดยมีนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเข้าร่วม และให้ข้อมูลในการสัมมนาครั้งนี้
โดยระบบสายไฟฟ้าใต้ดินเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบสายส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าไว้ใต้พื้นดิน โดยเดินร้อยท่อฝังดินในโครงสร้างที่ออกแบบมาเพื่อรองรับสายเคเบิล และอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการนำส่งไฟฟ้าโดยเฉพาะ จึงมีความปลอดภัยต่อการใช้งานสูง อีกทั้งยังเพิ่มความสวยงามให้กับทัศนียภาพในชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ซึ่งระบบสายไฟฟ้าใต้ดินนั้นจะทำให้ระบบไฟฟ้าใต้ดินมีความปลอดภัยต่อสาธารณะและด้านอัคภีภัย รวมทั้งมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และมีเสถียรภาพมากกว่าระบบสายไฟฟ้าอากาศ
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้การไฟฟ้านครหลวงปรับเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Vin/ เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมทั้งได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 ภายใน 5 ปีโดยเริ่มโครงการนำร่องกับเทศบาลเมืองและเทศบาลคือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จากนั้นจะทยอยเพิ่มเติมอีก 8 จังหวัด เพื่อปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง เชื่อถือได้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ให้สวยงาม
โดยจากความสำคัญดังกล่าวคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรตระหนักถึงความสำคัญของระบบไฟฟ้าใต้ดินในเมืองหลวงและในแหล่งท่องเที่ยว คณะกรรมาธิการจึงได้จัดการสัมมนา “ระบบไฟฟ้าใต้ดินกับความปลอดภัยด้านอัคคีภัยและการประหยัดพลังงานแบบเสถียรภาพ” ขึ้น เพื่อศึกษาข้อมูลและความคิดเห็นในประเด็นต่างๆในการเสนอให้รัฐบาลพิจารณาและปรับปรุงแผนการปรับเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของประเทศไทยให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบันต่อไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้สร้างเคเบิลใต้ดินสำหรับเมืองใหญ่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เพื่อการปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้านำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน โดยได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ดำเนินการย้ายสายไฟฟ้าลงใต้ดินบริเวณในเมืองใหญ่ ย่านธุรกิจ เมืองเก่า และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งจังหวัดตรังเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการนำสายไฟฟ้าลงดิน เพื่อการปรับภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม เป็นระเบียบ มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นน่าน เชียงใหม่ นครพนม ขอนแก่น หาดใหญ่ ภูเก็ต และพัทยา
สำหรับอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นอีกแห่งที่ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ทั้งชาวไทยและต่างชาติ หากนำสายไฟลงดินจะเป็นการส่งเสริมเพิ่มความนิยมมากขึ้น เป็นปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างทัศนียภาพแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพิ่มความงดงาม สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ให้มากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน
นายประจักษ์ กิติรัตนวิวัฒน์ เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน กล่าวถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยี การนำระบบไฟฟ้าลงดินในปัจจุบันนี้ว่า ในปัจจุบันการนำระบบสายไฟฟ้าลงดิน มีการพัฒนาไปมาก ที่ผ่านมานำระบบไฟฟ้าลงดินที่การไฟฟ้าดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ยังคงเหลือหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่คงอยู่เป็นดิน แต่ในปัจจุบันนี้ ผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าได้สร้างนวัตกรรมของคนไทยขึ้นมาใหม่ ทำการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายชนิดจมน้ำ (Submersible Type Distribution Transformer)เพื่อใช้สำหรับการจำหน่ายไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าใต้ดิน เหมาะกับพื้นที่ที่มีจำกัดในการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าเช่น พื้นที่ทางเท้าที่แคบ พื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม หรือพื้นที่ที่ต้องการทัศนียภาพสวยงาม ซึ่งการติดตั้งหม้อแปลงชนิดนี้สามารถทำงานในสภาวะจมน้ำ มีความแข็งแรงทนทาน สามารถจมน้ำลึกถึง 3 เมตรเหนือระดับฝาถังหม้อแปลง และหม้อแปลงดังกล่าวได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยไว้แล้ว โดยบริษัทเจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ที่เป็นผู้คิดคัน และผลิต
หม้อแปลงจมน้ำ ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมไทยอีกอย่างที่เราควรส่งเสริมและสนับสนุน ต่อยอดเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สถานที่ท่องเที่ยว เมืองใหญ่ๆ และหม้อแปลงชนิดจมน้ำนี้ ยังเหมาะกับโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากการติดตั้งหม้อแปลงจะอยู่ใต้ดินสามารถควบคุมและป้องกันการเกิดอุบัติภัยได้ ทำให้ผู้ประกอบการลดความเสี่ยงไปได้มาก นอกจากภูมิทัศน์จะดูดี หม้อแปลงดังกล่าวยังสร้างความยั่งยืนของพลังงานไทย สร้างความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และสร้างทัศนียภาพภูมิทัศน์ให้สวยงาม
Discussion about this post