จากความหมายเพื่อการใช้ทดสอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในสถานการณ์จำลองที่ริเริ่มใช้ในต่างประเทศมากว่า 5 ทศวรรษ ปัจจุบันคำว่า “Sandbox” หรือ “กระบะทรายในจินตนาการ” ในความหมายตรงตัว ได้มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ทั้งในแวดวงธุรกิจ การท่องเที่ยว รวมไปถึงแวดวงการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งหมายถึงการทดสอบงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้ระบบนิเวศที่กำหนด ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดในการสร้างสรรค์และพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติได้อย่างแท้จริงต่อไปในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้นำสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ผลิตแพทย์นักวิจัยที่มีศักยภาพเป็นเลิศ ซึ่งมีจำนวนผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติสูงสุดในประเทศไทย นับเป็นเวลา 4 ปีแล้วที่ได้มีการจัดตั้ง “SiCORE” (Siriraj Center Of Research Excellence) หรือ ศูนย์วิจัยเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งบริหารจัดการโดย “SiCORE-M” (Siriraj Center Of Research Excellence – Management unit) โดยมีที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ ไปจนถึงระดับโลก และได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นส่วนงานหลักที่ทำหน้าที่สนับสนุนและประสานต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีบทบาทในระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์ และเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้ SiCORE ยังได้รับเกียรติจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้วย
ที่ผ่านมา SiCORE ได้ใช้หลักการ “Sandbox” เพื่อการเป็นสถาบันนำร่องสู่การบุกเบิกงานวิจัยใหม่ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มี impact ในระดับประเทศ และระดับโลก ด้วยการส่งเสริมศักยภาพของนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยลดข้อจำกัดในเรื่องระบบระเบียบ หรือเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทุนวิจัย การจัดซื้อครุภัณฑ์ รวมไปถึงกระบวนการบริหารจัดการด้านบุคลากรวิจัยที่ทำให้งานวิจัยและนวัตกรรมสามารถไปต่อได้อย่างเต็มที่ โดยหวังให้ประชาชน ประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สิทธิ์ สาธรสุเมธี ได้กล่าวเพิ่มเติมในฐานะผู้จัดการ “SiCORE-M” ของ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงโครงการวิจัยหลักที่ตอบโจทย์ปัญหาทางสุขภาวะของประเทศ ภายใต้การบริหารจัดการของ “SiCORE-M” ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 4 โครงการ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก การแพทย์แม่นยำเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคภูมิแพ้ ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยที่ประสบความสำเร็จสูงกลุ่มหนึ่ง โดยมีหัวหน้าโครงการเดิม คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงฉวีวรรณ บุนนาค ภาควิชาโสต นาสิก ราลิงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำทีมวิจัยคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปีงบประมาณ 2564 ซึ่งได้รับการประกาศจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อเร็วๆ นี้
เป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษแล้วที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถผลิตน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้และวัคซีนสำหรับตรวจและรักษาโรคภูมิแพ้ และเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถเพาะเลี้ยงไรฝุ่นได้ในปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ที่พบมากในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน โดยได้มีการจดสิทธิบัตร จาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา และล่าสุดประสบความสำเร็จจากการเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถผลิตวัคซีนโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น (House Dust Mite Allergen Vaccine) เพื่อการจำหน่ายอย่างครบวงจร โดยได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและยา (FAO) สหรัฐอเมริกา ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้อยู่ในกลุ่มชีวเภสัชภัณฑ์ (Biological Products) ของตำรับยาที่อยู่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปีพ.ศ.2561
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงศกร ตันติลีปิกร หัวหน้ากลุ่มวิจัยโรคภูมิแพ้คนปัจจุบัน ของ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจากการได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนของคนไทยผลิตวัคซีนและชุดทดสอบโรคภูมิแพ้ไรฝุ่นที่ผ่านมา ทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยสามารถเข้าถึงการรักษาโรคภูมิแพ้ที่ได้มาตรฐานโลก ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลงเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่าวัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเป็นวัคซีนที่ไม่ได้ใช้แต่เฉพาะกับคนไทย แต่สามารถใช้ได้กับคนทั่วโลก และเนื่องด้วยโรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษากันอย่างต่อเนื่อง การใช้วัคซีนจะสามารถทำให้ผู้ป่วยลดการใช้ยาภูมิแพ้ลงได้
นอกจากนี้ จากการวิจัยยังพบว่าปัญหาโรคภูมิแพ้มีความสัมพันธ์กับปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดจากมลพิษต่างๆ รวมทั้ง PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โดยจะเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้เกิดอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ดี แม้ยังไม่มีรายงานว่าผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ จะติดเชื้อ COVID-19 ได้ง่ายขึ้นหรือไม่ แต่การ Work From Home ตามมาตรการรักษาระยะห่าง หรือ Home Isolation กักโรคในบ้านซึ่งไม่ได้ทำความสะอาดให้ปลอดไรฝุ่น จะทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ไรฝุ่นอยู่แล้วมีอาการมากขึ้นได้
ซึ่งผลงาน “วัคซีนรักษาภูมิแพ้ไรฝุ่นและชุดทดสอบไรฝุ่น” ของ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้การบริหารจัดการของ “SiCORE-M” ซึ่งสามารถนำไปใช้งานได้จริง โดยจะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายสู่การเป็น “ประเทศนวัตกรรม” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ข้อที่ 9 ที่ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure) และ SDG ข้อที่ 13 ซึ่งว่าด้วยการรับมือกับปัญหาที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Action) จาก”Sandbox” หรือ กระบะทรายคุณภาพแห่งการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่นำร่องโดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ต่อไปในอนาคต
Discussion about this post