กรมท่าอากาศยาน เปิดตัวการใช้ระบบคัดกรองผู้โดยสารเครื่องบินแบบบูรณาการที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพผ่านระบบ Mobile Application และตู้ Kiosk ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่สามารถเชื่องโยงข้อมูลผู้โดยสารและแผนที่การเดินทางกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้การสอบสวนโรค และการตรวจสอบย้อนกลับ มีความแม่นยำ ถูกต้อง และรวดเร็ว ครอบคลุมการใช้งานในท่าอากาศยาน 8 แห่ง ทั่วประเทศ
โครงการพัฒนาระบบคัดกรองผู้โดยสารเครื่องบินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกรมท่าอากาศยาน เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (Covid – 19)
นายประพันธุ์ บรรจบผล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมท่าอากาศยาน ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ให้ข้อมูลว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเก็บข้อมูลในการเดินทางของผู้โดยสาร ผู้โดยสารขาเข้า ต้องกรอกข้อมูลแบบฟอร์ม ต. 8-คค เพื่อระบุ ข้อมูลการเดินทาง ข้อมูลการเข้าพัก รวมทั้งประวัติการเดินทาง ซึ่งต้องใช้เวลากรอกเอกสารไม่ต่ำกว่า 20 นาทีต่อผู้โดยสาร 1 คน ทำให้เกิดการแออัดและมีผู้โดยสารที่ต้องรอต่อคิวจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการปริมาณผู้โดยสารตามมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโควิด -19
“กรมท่าอากาศยานจึงพัฒนาแนวคิดในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ด้วยการพัฒนากระบวนการคัดกรองผู้โดยสารเครื่องบินประกอบด้วย 3 ระบบ คือ 1) ระบบการจัดการข้อมูลการคัดกรองผู้โดยสารผ่าน Mobile Application 2) ระบบบริหารจัดการข้อมูลการคัดกรองผู้โดยสารและการตรวจวัดอุณหภูมิ และ 3) ระบบการคัดกรองผู้โดยสารผ่านตู้ Kiosk เพื่อช่วยในการอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการกรอกข้อมูลผู้โดยสาร ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของท่าอากาศยาน ลดปริมาณผู้โดยสารสะสมในพื้นที่คัดกรองโรคของผู้โดยสาร และช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 รวมทั้งกรมท่าอากาศยานยังสามารถแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการติดตามและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ต่อไปได้
ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยตลอดกระบวนการคัดกรองผู้โดยสาร ตั้งแต่การเดินผ่าน Thermal gate วัดอุณหภูมิอัตโนมัติ การกรอกข้อมูล แบบ ต.8 ผ่าน Mobile Application ทั้งระบบ iOS และ Android หรือสามารถเลือกทำการกรอกข้อมูลได้ที่ตู้ Touch screen Kiosk และบันทึกการส่งข้อมูลด้วย QR Code เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลผู้โดยสารของกรมท่าอากาศยาน โดยจากการเริ่มใช้งานระบบนี้ในการจัดการผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานขอนแก่น สามารถเคลื่อนย้ายผู้โดยสารจำนวน 170 คน ในเวลาเพียง 10 นาที ซึ่งเป็นการถ่ายโอนผู้โดยสารที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวต่อไปว่า โดยระบบที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาระบบคัดกรองผู้โดยสารเครื่องบินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ ได้ดำเนินการจัดหาและติดตั้งระบบในส่วนของอาคารผู้โดยสารขาเข้าของท่าอากาศยาน 8 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานพิษณุโลก และท่าอากาศยานตรัง ซึ่งได้ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในการรองรับการใช้งานของผู้โดยสารแล้วในปัจจุบัน เพื่อความปลอดภัยสูงสุดและเพิ่มขีดความสามารถในการอำนวยความสะดวกด้านการบริการแก่ผู้โดยสารทุกท่านในยุควิถีใหม่
“โครงการพัฒนาระบบคัดกรองผู้โดยสารเครื่องบินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ในการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการรับมือกับสถานกาณ์การแพร่ระบาด ถือเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันและรักษาสุขอนามัยของประชาชนและเจ้าหน้าที่ในการติดเชื้อ เป็นโครงการที่มีประโยชน์รองรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ในปัจจุบันและอนาคต ให้ประเทศไทยก้าวพ้นวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ กรมท่าอากาศยาน ขอขอบคุณ กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการให้ความช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐ เพื่อประโยชน์ต่อการให้บริการสาธารณะ ส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงขอเชิญชวนให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือบุคคลทั่วไป ที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในการช่วยผลักดันองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้ก้าวหน้าและยั่งยืน
Discussion about this post