โลกวิถีใหม่ที่กำลังเผชิญกับภัยพิบัติ โรคภัยและโรคอุบัติใหม่ ทำให้ประชาคมโลกและหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับระบบข้อมูลสุขภาพระดับชาติซึ่งถือเป็นความมั่นคงของประเทศ ทั้งในยามปกติสุขและภาวะไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกความร่วมมือ กับ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัทจันวาณิชย์ จำกัด โดยได้รับการส่งเสริมภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดีเดย์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะประเทศไทย 5G หรือ Thailand Health Data Space เพื่อใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกเครืองระบบสุขภาพในทุกมิติ ตั้งแต่การส่งข้อมูลข้าม รพ. การวินิจฉัย การบำบัดรักษา ติดตามฟื้นฟู ทำให้แพทย์สามารถบำบัดรักษาในภาวะฉุกเฉิน ช่วยชีวิตคนไข้ได้ทันเวลา คนไข้ได้รับบริการสุขภาพที่ดีในทุกพื้นที่ของประเทศ ลดภาระความแออัดของรพ. และความเสี่ยงของบุคคลากรแพทย์ พัฒนาบริการที่มีประสิทธิภาพ พร้อมไปกับส่งเสริมป้องกันสุขภาพคนไทย
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะประเทศไทย 5G (Thailand Health Data Space 5G) เป็นการพัฒนาโครงสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลสุขภาพ Big Data ของประเทศอย่างครบวงจรเป็นครั้งแรกของไทย ส่วนประกอบมี 3 ส่วน คือ 1. Big Data Infrastructure แพลตฟอร์มข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลการแพทย์-สุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยและข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกัน 2. ระบบข้อมูลของเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งภายใน รพ. และระหว่าง รพ. หน่วยบริการสาธารณสุขต่างๆ ในพื้นที่ให้แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่มาจาก รพ. อื่นได้อย่างรวดเร็ว โดยคนไข้จะกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของตนได้ 3. แอปพลิเคชัน ซึ่งจะรวบรวมเครือข่ายแอปพลิเคชันบริการด้านสุขภาพ สตาร์ทอัพต่างๆ การให้คำปรึกษา บริการสุขภาพทางไกล (Telemedicine) ระหว่างแพทย์และคนไข้ โครงการฯ นี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาในระยะที่ 1 จากสำนักงาน กสทช. โดยมีแผนการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จ ดังนี้
ระยะที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Big Data สารสนเทศการแพทย์ และตัวอย่างทดสอบ THDS Sandbox ในโรงพยาบาลเป้าหมาย
ระยะที่ 2 การพัฒนาให้ระบบสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพกับเครือข่ายโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ระยะที่ 3 การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพกับบริการและเฮลท์เทคจากภาคีพันธมิตรที่ผู้ป่วยอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลได้
โดยมี ดร.เคอิตา โอโน่ เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ได้จัดเวิร์คช็อปลงพื้นที่ เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับแพทย์และบุคลากรสุขภาพให้เข้าใจถึงกระบวนการของงานการแพทย์ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนของกลุ่มโรคและการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้การวางแผนและดำเนินโครงการนี้ตอบโจทย์ผู้ใช้ข้อมูลในทุกระดับอย่างแท้จริง การผนึกความร่วมมือทั้ง 5 องค์กรครั้งนี้ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบบริการทางการแพทย์และสุขภาพ เสริมความเข้มแข็งและยั่งยืนของสาธารณสุขของไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมเฮลท์เทคและการเป็น Medical Hub ตอบรับสังคมและเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
นายแพทย์อนันต์ กนกศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการ Thailand Health Data Space 5G นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศไทย กล่าวคือ ประโยชน์ด้านสังคม เรากำลังจะสร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพและเข้มแข็งยั่งยืน โดยทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบสุขภาพของไทยเชื่อมโยงข้อมูลกัน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความอุ่นใจไว้วางใจ ประโยชน์ด้านการแพทย์/สาธารณสุข ทำให้ระบบมีความเข้มแข็งและก้าวหน้า โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้แพทย์ทำงานได้รวดเร็ว แม่นยำด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง การไหลเวียนของข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อบุคคลากรและหน่วยงานการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมโรงพยาบาลอัจฉริยะ ด้านผู้ป่วย ได้รับประโยชน์จากบริการรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว มีคุณภาพ ความปลอดภัยในยามฉุกเฉิน สามารถเก็บประวัติสุขภาพและนำมาใช้ประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพของตนและครอบครัวได้
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้ โดยมี รศ.ดร.สุชาติ แย้มแม่น คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ศ.นพ. ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทพัฒนาในส่วนที่ 3 ของโครงการ คือ แอปพลิเคชัน “หมอรู้จักคุณ (Med Care)” ซึ่งเป็นบริการทางการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง 5G จะเปิดให้บริการกับคนไทยทุกคนผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ผู้ใช้สามารถกำหนดได้ว่าจะอนุญาตให้รพ.ใดส่งข้อมูลตนเองเข้าสู่ระบบได้บ้าง และสามารถแจ้งยกเลิกการอนุญาตได้ด้วยแอปพลิเคชัน “หมอรู้จักคุณ” ประกอบด้วย 4 บริการ คือ 1. แอปพลิเคชัน-แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบบการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ระยะไกล ผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยให้แพทย์ทำงานได้รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ ลดภาระของโรงพยาบาล 2. แอปพลิเคชัน-ประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนตัวและแหล่งบริการทางการแพทย์ 3. แอปพลิเคชัน-คลินิกหมอครอบครัว บันทึกข้อมูลทางการแพทย์สำหรับเครือข่ายเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และทีมแพทย์หมอครอบครัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ใช้ในการติดต่อผู้ป่วย ลงข้อมูลผู้ป่วยเข้าระบบง่ายขึ้น ไม่ต้องลงข้อมูลซ้ำซ้อน 4. แอปพลิเคชันหมอรู้จักคุณ / อสม. สำหรับการทำงานด้านเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค การฟื้นฟูสุขภาพ การติดตามคุ้มครองผู้บริโภค
คุณธนพล กองบุญมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า การส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี ไม่ป่วยนั้นจะเป็นหัวใจสำคัญ ในการขับเคลื่อนให้ระบบสาธารณสุขไทยที่เป็นการเปิดโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพและการแพทย์ในกรณีที่จำเป็นจะช่วยให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการรักษาได้เป็นอย่างเหมาะสม และการยกระดับระบบสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะประเทศไทย (Thailand Health Data Space 5G) ในครั้งนี้เกืดขึ้นจากความร่วมมือที่ดีและเหมาะสมจะทำให้ทุกภาคส่วนในระบบสุขภาพและสาธารณสุขของไทย และข้อมูลสุขภาพได้รับการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบผ่านการเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูลบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ภายใต้มาตรฐานระดับโลกที่นานาประเทศยอมรับ อาทิ มาตรฐาน European Health Data Space ตลอดจนลักษณะการเก็บและการจัดการข้อมูลในมาตรฐาน HL7 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่หน่วยงานรัฐบาลหลายประเทศยอมรับและนำไปใช้ เนื่องจากข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลละเอียดอ่อน แพลตฟอร์ม THDS จึงต้องมีระบบความปลอดภัยของข้อมูล ผ่านการเข้าถึงข้อมูลอย่างปลอดภัยและถูกต้อง
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์อัจฉริยะประเทศไทย นั้นจำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยง “เทคโนโลยี” (Technology) และ “บริการเชิงสังคม”(Social Services) ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกผ่าน 1.ข้อมูลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ 2.การใช้ประโยชน์ของข้อมูลและการประยุกตุ์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ 3.ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) 4. การยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาสุขภาพ (Health Quality) 5.ความมั่นคงทางสังคม (Social Security) 6.ความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ (Trusted Provider) 7. ความสะดวกสบายในการใช้บริการ (Comfortability) สุดท้ายคือ 8. ความโปร่งใส (Transparency)
ที่มา : mahidol
Discussion about this post