บลูบิค (Bluebik) บริษัทคอนซัลต์ชั้นนำผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี แนะวางรากฐานขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล หรือ Data Governance 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. การออกนโยบายดูแลข้อมูล (Data Policy) 2. กำหนดกลุ่มบุคคลที่รับผิดชอบดูแลจัดการข้อมูลโดยเฉพาะ (Data Governance Team) และ 3. วางกระบวนการจัดการข้อมูลให้ชัดเจน (Process) เพื่อให้การจัดเก็บและนำข้อมูลไปใช้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เผยองค์กรที่นำข้อมูลคุณภาพสูงไปต่อยอด ยิ่งเพิ่มโอกาสสร้างรายได้เติบโตและปลดล็อกศักยภาพขยายธุรกิจในอนาคต
นายพิพัฒน์ ประภาพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการและหัวหน้าทีม Data Science (Machine Learning) บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการแข่งขันในโลกธุรกิจถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเป็นหลัก ทั้งการนำข้อมูลมาใช้ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดรับกับเทรนด์เพื่อสร้างแหล่งรายได้เพิ่มเติม หรือการนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานในส่วนที่ไม่จำเป็น แต่หลายองค์กรกลับไม่สามารถบรรลุผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ เนื่องจากพบปัญหาเรื่องข้อมูลไม่มีคุณภาพ อาทิ ข้อมูลที่เก็บรวบรวมนั้นไม่สมบูรณ์ มีความซ้ำซ้อนกัน หรือไม่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการวิเคราะห์ ส่งผลให้หน่วยธุรกิจ (Business unit) ไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้งานได้จริง และต้องแบกรับภาระต้นทุนในการจัดเก็บและดูแลระบบสูงขึ้นจากการเสียพื้นที่เก็บข้อมูลที่ไม่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงความน่าเชื่อถือของธุรกิจในอนาคต
“หากมองย้อนกลับไปถึงต้นตอของปัญหาจะพบว่ามีสาเหตุมาจากการขาดมาตรฐานในการจัดการข้อมูล ดังนั้นการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล หรือ Data Governance เพื่อสร้างมาตรฐานด้านการบริหารจัดการและกำกับดูแลข้อมูลจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมศักยภาพในการนำข้อมูลไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยกำหนดและบังคับใช้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านข้อมูลภายในองค์กร รวมถึงการใช้บุคลากรและกระบวนการ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยหากองค์กรมีความสามารถในการจัดการข้อมูลที่ดีและสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเต็มที่จะทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน”
การจัดทำ Data Governance มีเป้าหมายเพื่อกำหนดสิทธิ หน้าที่ และบทบาทความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อมูลภายในองค์กรให้ชัดเจน โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามประเภทธุรกิจ เนื่องจากแต่ละองค์กรมีแหล่งที่มาของข้อมูลไม่เหมือนกัน รวมถึงประเภทของข้อมูลที่จัดเก็บและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านข้อมูลก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งบลูบิคมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษากับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งองค์กรที่มีมาตรฐานการควบคุมดูแลข้อมูลแล้ว แต่ต้องการคำแนะนำเพื่อปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น และองค์กรที่ไม่เคยมีมาตรฐานการควบคุมดูแลข้อมูล สำหรับการวางแนวทางด้าน Data Governance สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1. นโยบายการดูแลข้อมูล (Data Policy) 2. กลุ่มบุคคลที่รับผิดชอบดูแลจัดการข้อมูล (Data Governance Team) และ 3. กระบวนการจัดการข้อมูล (Process)
1. นโยบายการดูแลข้อมูล (Data Policy)
นับเป็นขั้นตอนแรกในการวางกฎเกณฑ์เบื้องต้น กำหนดตัวชี้วัด (Metrics) ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเก็บข้อมูล โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของกฎหมายหรือข้อบังคับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีขอบเขตดังนี้
มาตรฐานด้านข้อมูล (Data Standardization) เป็นการสร้างแนวทางการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ การตั้งชื่อ รูปแบบ และความยาว เพื่อให้การนำข้อมูลไปใช้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เกณฑ์วัดคุณภาพข้อมูล (Data Quality) เมื่อองค์กรนำข้อมูลไปใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน จึงอาจต้องการใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพแตกต่างกันด้วย ดังนั้นอาจแบ่งเกณฑ์การกำหนดคุณภาพข้อมูลโดยใช้ความแม่นยำ ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความรวดเร็ว เป็นต้น
นโยบายด้านความปลอดภัยและการควบคุมความเสี่ยง (Security Policy) เป็นการกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลแต่ละระดับ การเปิดเผยข้อมูลต่อองค์กรภายนอก หรือการปกป้องความเป็นส่วนตัว รวมถึงการกำหนดกระบวนการควบคุมดูแลจัดการข้อมูล
การปฏิบัติตามกฎและระเบียบข้อบังคับต่างๆ อาทิ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ซึ่งต้องมีการระบุแนวทางการสร้าง แก้ไข และลบข้อมูลอย่างชัดเจน
2. โครงสร้างบุคลากรที่รับผิดชอบดูแลข้อมูล
หลังจากกำหนดนโยบายการดูแลข้อมูล องค์กรควรจัดตั้งทีมเพื่อเข้ามาดูแลด้านข้อมูลโดยเฉพาะ ซึ่งแต่ละส่วนจะทำหน้าที่แตกต่าง ประกอบด้วย
Data Governance Council มีหน้าที่หลักในการกำหนดและตัดสินใจเรื่องนโยบายการกำกับดูแลข้อมูล รวมถึงแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการข้อมูล โดยปกติจะประกอบด้วย ประธานกรรมการบริหาร (CEO) ประธานบริหารฝ่ายข้อมูล และหัวหน้าฝ่ายข้อมูล เป็นต้น
Data Steward Team อาจประกอบด้วยหัวหน้าทีมบริกรข้อมูลทั้งจากหน่วยธุรกิจต่างๆ (Business Units) ฝ่ายไอที และฝ่ายข้อมูล มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนิยามและมาตรฐานข้อมูล รวมถึงวางเกณฑ์คุณภาพข้อมูล
Data Stakeholder คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อมูล ได้แก่ เจ้าของข้อมูล ทีมจัดการข้อมูล ผู้ใช้ข้อมูล และผู้สร้างข้อมูล ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้สร้างและใช้ข้อมูล ยังทำหน้าที่ดูแลข้อมูลและจัดการระบบข้อมูลโดยตรง
3. กระบวนการ
นับเป็นขั้นตอนที่จะร้อยเรียงทุกองค์ประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อให้การพัฒนาระบบดูแลจัดการข้อมูลเป็นไปตามนโยบายและมาตรฐานที่วางไว้ ซึ่งการวางกระบวนการทำงานอาจเริ่มตั้งแต่การวางสถาปัตยกรรมข้อมูล (Data Architecture) เพื่อวางโครงสร้างข้อมูลให้ครบถ้วน การออกแบบจำลองข้อมูล (Data Modeling) การกำหนดชุดคำอธิบายข้อมูล (Meta Data) การวางกระบวนการเพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) ตลอดจนการสร้าง Data Warehouse และ Data Lake เพื่อเก็บข้อมูลส่วนกลางสำหรับนำไปวิเคราะห์ เป็นต้น
สำหรับการทำ Data Governance ยังเปิดทางไปสู่การปลดล็อกศักยภาพธุรกิจด้านต่างๆ อาทิ การเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้ธุรกิจ ด้วยการนำข้อมูลที่ได้มาตรฐานไปทำการวิเคราะห์ขั้นสูง (Advanced Analytics) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจทางธุรกิจ และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เนื่องจากการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถลดความล่าช้าในการดำเนินโครงการต่างๆ ทำให้องค์กรสามารถรับรู้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและเข้าไปจัดการได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ รวมถึงป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
“ในยุคที่ธุรกิจแข่งขันกันด้วยข้อมูล การมีมาตรฐานการจัดการข้อมูลที่ดีย่อมสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจ ยกตัวอย่างร้านฟาสต์ฟู้ดระดับโลกที่นำข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บอย่างถูกวิธีมาใช้ในการดูแลและดึงดูดลูกค้าผ่านการออกโปรโมชันและสิทธิประโยชน์พิเศษที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ส่งผลให้ยอดซื้อเพิ่มขึ้นถึง 35% ซึ่งข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ณ ปี 2560 บริษัทชั้นนำของไทยจากหลากหลายอุตสาหกรรมกว่า 56% มีการนำ Big Data มาใช้เพื่อพัฒนากระบวนการขายและการตลาด รวมถึงปรับปรุงสินค้าและบริการ โดยมีแนวโน้มจะนำข้อมูลมาใช้งานเพิ่มขึ้น 20-25% ต่อปี และภายในปี 2565 อาจเห็นมูลค่าตลาด Big Data แตะระดับ 13,000 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นการวางมาตรฐานการจัดการข้อมูลยังเป็นส่วนสำคัญในการทรานส์ฟอร์มองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ๆในอนาคต”
Discussion about this post