สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โชว์ผลงานวิจัยพัฒนา “วัสดุดูดซับจากยางพารานาโนเทคโนโลยีสำหรับขจัดน้ำมันปนเปื้อน” ใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลัก ดูดซับน้ำมันได้ 5-18 เท่า ใช้ซ้ำได้อย่างน้อย 5 ครั้ง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนา “วัสดุดูดซับจากยางพารานาโนเทคโนโลยีสำหรับการขจัดน้ำมันปนเปื้อน” โดยใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ผลิตภัณฑ์อยู่ในรูปแบบโฟมยาง 2 แบบ มีประสิทธิภาพสามารถดูดซับน้ำมันได้ 5-18 เท่าของน้ำหนักโฟมยาง ใช้ซ้ำได้อย่างน้อย 5 ครั้งด้วยการบีบอัดทางกล มีน้ำหนักเบา ใช้งานง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งการขจัดน้ำมันปนเปื้อนบนผิวน้ำ เช่น ทะเล แม่น้ำ โรงงานอุตสาหกรรม
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ปัญหาน้ำมันรั่วไหลทางทะเลเป็นปัญหามลภาวะที่สำคัญเนื่องจากเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างเฉียบพลันและระยะยาวต่อสุขภาพของ มนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบนิเวศ การพัฒนาวัสดุดูดซับน้ำมันที่มีราคาถูกและเหมาะสำหรับการดูดซับน้ำมันเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาวัสดุดูดซับจากยางพาราสำหรับการขจัดน้ำมันปนเปื้อน (Development of Natural Rubber Sorbent Material for Oil Decontamination) และประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “วัสดุดูดซับจากยางพารานาโนเทคโนโลยีสำหรับการขจัดน้ำมันปนเปื้อน” ในระดับห้องปฏิบัติการ โดยใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ให้อยู่ในรูปแบบโฟมยาง ใช้งานง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โฟมยางที่ วว. พัฒนา แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
โฟมยางที่มีอนุภาคนาโนของเหล็กออกไซด์ โดยได้สังเคราะห์อนุภาคนาโนของเหล็กออกไซด์ แล้วนำมาเป็นส่วนผสมในการขึ้นรูปโฟมยาง โดยโฟมยางที่มีอนุภาคนาโนของเหล็กออกไซด์สามารถดูดซับน้ำมันได้ 10-12 เท่าของน้ำหนักโฟมยาง สามารถใช้ซ้ำได้อย่างน้อย 5 ครั้งด้วยการบีบอัดทางกล โฟมยางที่ได้มีคุณสมบัติแม่เหล็กดูดติด สามารถเคลื่อนย้ายหลังจากการดูดซับน้ำมันได้ด้วยแม่เหล็กพลังงานสูง จึงไม่เกิดแรงบีดหรือแรงกดอัดในระหว่างการเคลื่อนย้าย ทำให้ไม่มีน้ำมันรั่วไหลออกจากวัสดุดูดซับ นอกจากนี้ โฟมยางที่ได้มีน้ำหนักเบา สามารถลอยน้ำได้ทั้งก่อนและหลังการดูดซับน้ำมัน ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดูดซับน้ำมันปนเปื้อนบนผิวน้ำได้
โฟมยางที่มีเส้นใยธรรมชาติ เส้นใยธรรมชาติที่ วว. เลือกใช้ ได้แก่ นุ่น ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำมันได้ดี จากผลการทดลองพบว่า โฟมยางที่มีเส้นใยนุ่นสามารถดูดซับน้ำมันได้ตั้งแต่ 5-18 เท่าของน้ำหนักโฟมยางขึ้นอยู่กับปริมาณนุ่นที่ใส่
“การวิจัยและพัฒนานี้ถึงแม้ยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ แต่มีแนวโน้มที่สามารถต่อยอดไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้เนื่องจากมีขั้นตอนในการเตรียมไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทั้งนี้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในการขยายสเกลและนำไปทดลองใช้ในสภาวะจริง วัสดุดูดซับน้ำมันจากโฟมยางพารานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งการขจัดน้ำมันปนเปื้อนบนผิวน้ำเช่น ทะเล แม่น้ำ และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีโอกาสจะมีน้ำมันปนเปื้อนจากกระบวนการผลิตได้อีกด้วย” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับบริการ ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. โทร. (02) 577-9000 โทรสาร (02) 577-9009 E-mail : tistr@tistr.or.th
Discussion about this post