มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) คณะแพทยศาสตร์ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์คิดค้นแอปพลิเคชัน “Sleepmore” เพื่อช่วยคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเชิงรุก ชูจุดเด่นการใช้แบบสอบถามในการคัดกรอง และเหมาะสมกับคนเอเชีย มีประสิทธิภาพการคัดกรองรวดเร็ว 93% หวังยกระดับการรักษาผลักดันสู่การใช้งานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง
ผศ. พญ.กรองทอง ถาวรานุรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา ผู้อำนวยการศูนย์บริการตรวจรักษาและวิจัยปัญหาการนอน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในประเทศไทย พบถึงร้อยละ 11 ของประชากรวัยกลางคน ช่วงอายุ 30 – 60 ปี พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และคนอ้วนมีโอกาสเป็นมากกว่าคนผอม โดยคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน ภายใต้ชื่อ “Sleepmore” เพื่อเป็นตัวกลางในการคัดกรองเชิงรุกเพื่อหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ต้องการให้ประชาชนเกิดความตระหนัก เข้าใจโรค ตลอดจนให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้น
อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ผู้ป่วยจะนอนกรนเสียงดังไม่สม่ำเสมอกัน ดังๆ หยุดๆ มีอาการง่วงนอนมากผิดปกติในช่วงกลางวัน หากไม่ได้รับการรักษา และปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะมีอาการของการนอนที่ไม่มีคุณภาพเรื้อรัง ไม่สดชื่น ง่วงนอนกลางวัน ส่งผลต่อการทำงาน สมาธิ ความจำ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานสูง นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคภาวะหลอดเลือดและหัวใจสูงขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ฯลฯ
การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นมีหลายวิธี ได้แก่ การลดน้ำหนัก การปรับท่านอน การปรับวิถีชีวิตและสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี การใช้ยา การใส่ครอบฟัน การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก ซึ่งปัจจุบันการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกในขณะหายใจเข้าเป็นการรักษามาตรฐานของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
“อยากผลักดันแอปพลิเคชันสู่ชุมชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระดับตำบล อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์ประจำอำเภอ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค และดำเนินการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่สามารถตรวจรักษาการนอนต่อไป” ผศ. พญ.กรองทอง กล่าว
ด้าน รศ.สินชัย กมลภิวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การคิดค้น “Sleepmore” แอพพลิเคชัน เริ่มจากการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยย้อนหลัง 1,000 คน ตั้งแต่การนอน อาการแสดงของโรค และผลตรวจที่ผิดปกติ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค พร้อมกับนำปัจจัยเสี่ยงสร้างเป็นโมเดลและสร้างเป็นแอปพลิเคชัน เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ซึ่งใช้ระยะเวลาการคัดกรองรวดเร็ว 93% ในรูปแบบการสอบถาม 6 ข้อในการคัดกรองที่เหมาะสมกับประชากรชาวเอเชีย โดยสามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนทั้ง IOS และ Android
ทั้งนี้ “Sleepmore” แอปพลิเคชัน ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่ขับรถสาธารณะ และอาชีพที่ต้องใช้สมาธิกับเครื่องจักรกล โดยมีฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถรับชมวิดีโอกายบริหาร พร้อมมีระบบแจ้งเตือนการทำกายบริหาร และการแสดงคะแนนเพื่อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่ำ ปานกลาง และสูง หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงจะต้องได้รับการวินิจฉัยกับแพทย์ แต่หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่ำจะให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้น และให้ความรู้เกี่ยวกับโรค ความสำคัญของโรค การดูแลตนเองเรื่องการรักษาเสียงกรน ปรับสุขนามัยการนอนที่ดี และการออกกำลังกายกล้ามเนื้อช่วงคอ
Sleepmore แอปพลิเคชัน มีฟีเจอร์ที่ผู้ป่วยสามารถนำไปใช้ได้ด้วยตนเอง ตอบโจทย์การใช้งานที่สะดวกสบายและผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถพัฒนาเรื่องสุขภาพต่อไปได้ ขณะเดียวกันยังวางเป้าหมายผลักดันแอปพลิเคชันสู่ชุมชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) ระดับตำบลและอำเภอ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค และดำเนินการส่งตัวไปยังโรงพยาบาล โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ได้ที่ https://pupanext.page.link/d6o5 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เฟซบุ๊กแฟนเพจ : ศูนย์บริการตรวจรักษาและวิจัยปัญหาการนอน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หรือ โทร. 074-451-363 ในวันเวลาราชการ
Discussion about this post