‘โรงเรือนอัจฉริยะ’ เป็นนวัตกรรมโรงเรือนปลูกพืชที่สามารถควบคุมระบบการปลูกพืชผ่านสมาร์ทโฟน พัฒนาโดย สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และเกษตรกรทำงานได้สะดวกมากขึ้น พร้อมทั้งร่วมกับ บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด ทดสอบการปลูกพืชในระบบโรงเรือนอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายทดสอบการปลูกเมลอนให้มีขนาดผลและความหวานได้คุณภาพและตรงตามมาตรฐานของท้องตลาด เพื่อนำไปสู่การขยายผลความรู้แบบครบวงจรให้แก่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการ
วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ สท. อธิบายว่า “โรงเรือนอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้นเป็นโรงเรือนแบบน็อกดาวน์โครงสร้าง SMART Greenhouse Knockdown สามารถขึ้นโครงและติดตั้งได้ในทุกพื้นที่ มีขนาดความกว้าง 6 เมตร ยาว 20 เมตร สูง 5.6 เมตร ออกแบบหลังคา 2 ชั้นพร้อมพัดลมระบายอากาศ และประตูกันแมลง 2 ชั้น ช่วยลดปัญหาแมลงเล็ดลอดเข้าไปในแปลงปลูก การทำงานของโรงเรือนอัจฉริยะได้นำระบบเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) ทีมีเซนเซอร์ต่างๆ มาช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก ได้แก่ เซนเซอร์วัดความเข้มแสง ควบคุมการทำงานของม่านพรางแสง เซนเซอร์วัดความชื้นดิน ควบคุมการทำงานของระบบน้ำหยด เซนเซอร์วัดความชื้นอากาศ ควบคุมการทำงานของระบบพ่นหมอก และเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ควบคุม การทำงานของพัดลมใต้หลังคา โดยเซนเซอร์ทั้งหมดสามารถแสดงผล แจ้งเตือน และควบคุมการทำงานผ่าน Smart phone และ Web base ด้วยเทคโนโลยีเพื่อทดสอบและพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมในการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตร บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ฯ ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์เมลอนสายพันธุ์ดีเกรดพรีเมียมสำหรับทดลองปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ พร้อมทั้งให้ความรู้ในการผลิต เพื่อร่วมค้นหาปัจจัยที่เหมาะสมในการเติบโตของเมลอน
สายพันธุ์เมลอนที่นำมาทดลองปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ 1. เพิร์ลเมลอนเนื้อเขียว (Green Pearl Melon) : เนื้อสัมผัสนุ่มฉ่ำ มีกลิ่นหอมสไตล์มินิมอล หอมเย็นๆ ทานแล้วสดชื่น รสชาติลงตัว 2. โกลเด้นดราก้อน (Golden Dragon Melon) เนื้อส้ม หวานกรอบ 3. กาเลียเมลอนญี่ปุ่น (Japanese Galia Melon) เนื้อสีขาว มีกลิ่นหอมเข้มข้นเฉพาะตัว และ 4. เพิร์ลเมลอนเนื้อส้ม (Orange Pearl Melon) เนื้อสัมผัสนุ่มฉ่ำ มีกลิ่นหอมสไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ หอมหวานเข้ากัน ซึ่งในการทดลองปลูกจะมีการเก็บบันทึกข้อมูลนำไปสู่การเรียนรู้และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับผลการทดลองเพาะปลูกเมลอนทั้ง 4 สายพันธุ์ในโรงเรือนอัจฉริยะ นายเฉลิมชัย เอี่ยมสอาด นักวิชาการ ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่าง ดี ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิตเมลอนได้มาตรฐานทั้งขนาดของผลและรสชาติหวานเป็นไปตามความต้องการของตลาด โดยข้อดีอันเป็นจุดเด่นของการเพาะปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ คือ สะดวกในการดูแล สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก รวมถึงลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายจากแมลงและฝน ในโรงเรือนนี้จะสามารถควบคุมการรดน้ำให้ปุ๋ยให้ตรงตามความต้องการของพืชได้ เรื่องแสงเราก็สามารถปรับม่าน และสามารถพ่นสเปรย์หมอกเพื่อควบคุมความชื้นได้ด้วย
โดยองค์ความรู้ที่ได้จากการทดลองนี้จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรในการนี้ไปยกระดับการเพาะปลูกของตน เพื่อให้มีผลประกอบการที่สูงขึ้น ลดความเสี่ยงในการทำการเกษตร นำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่ง สท. – สวทช. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพืชในระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่สนใจ โดยสอบถามและดูงานได้ที่อุยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ที่มา : สวทช.
Discussion about this post