สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตชาวชุมชนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ หนึ่งในผลงานนวัตกรรมของ สวทช. ที่ลงไปขับเคลื่อนกับชุมชนคือ เทคโนโลยีการผลิตถ่านคาร์บอนกัมมันต์ หรือ ActivatedCarbon ที่ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรหรืออาหาร เป็นผลงานของนักวิจัยนาโนเทค สวทช.
โดย นักวิจัยนาโนเทค สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ในการนำวัสดุเหลือทิ้งจากชุมชนมาแปรรูปผลิตเป็นถ่านคาร์บอนกัมมันต์ ซึ่งมีคุณสมบัติดูดซับกลิ่นได้ดี สามารถนำไปต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกของ จ.ศรีสะเกษ ได้ ทำให้ทีมนักวิจัยมีแนวคิดในการนำ “ไม้ไก่ย่าง” ที่เหลือทิ้งในชุมชนเป็นจำนวนมาก มาผลิตเป็นถ่านคาร์บอนกัมมันต์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงของ สวทช. ถือเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มมูลค่าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ชุมชน ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG model
ประเทศไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งเกษตรกรรมและมีวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่หลากหลาย ดังนั้น แนวคิดในการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตถ่านคาร์บอนกัมมันต์ จึงนับเป็นหนึ่งในกุญแจดอกสำคัญของการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ
ถ่านคาร์บอนกัมมันต์ (activated carbon) ชื่อเรียกที่หลายคนคุ้นชินและแฝงไปด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลาย หากเราจะเห็นการนำถ่านคาร์บอนกัมมันต์ไปใช้กำจัดหรือดูดซับสิ่งปนเปื้อน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาดเหมาะกับการนำไปใช้อุปโภคและบริโภคในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมอาหาร
Discussion about this post