วช. หนุน “เครื่องตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืน” นวัตกรรมฝีมือนักวิจัยไทย พัฒนาต่อเนื่อง ล่าสุดส่งมอบพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานจริง และอยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณเพื่อขยายผลผลิตให้ศูนย์พิสูจน์หลักฐานใช้งานทั่วประเทศ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) โดย วช. มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง “นวัตกรรมเครื่องตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงสำหรับงานพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรม” เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่ วช. ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมฝีมือคนไทยที่มีคุณภาพ ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสามารถสนับสนุนและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
นวัตกรรมเครื่องตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืน มีคณะผู้ประดิษฐ์จากหลากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย ผศ. ดร. เขมฤทัย ถามะพัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม และรองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นหัวหน้าโครงการ ฯ พันตำรวจเอกหญิงศิริประภา รัตตัญญู นักวิทยาศาสตร์ (สบ 4) กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ พันตำรวจเอกหญิง สุรินทร์ ชมเสาร์หัศ อดีตนักวิทยาศาสตร์ (สบ 4) กลุ่มงานตรวจลายนิ้วมือแฝง กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ดร.ชุติมา อุปถัมภ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพ นางสาวอวิกา แสงวิมาน และนายอภิวัฒน์ เพ็ชรสหาย นักวิจัยจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. และนายอดิเรก พิทักษ์ อาจารย์จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
ผศ. ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ หัวหน้าโครงการ ฯ เปิดเผยว่า การพัฒนานวัตกรรมเครื่องตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืนได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวอร์ชั่นแรก ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเมื่อประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อพัฒนาต้นแบบแล้วเสร็จ ได้มีการส่งมอบให้กองพิสูจน์หลักฐานกลางและศูนย์พิสูจน์หลักฐาน10 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ทดสอบใช้งานจริง และผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2560 ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติที่ผ่านมา
ทั้งนี้หลังจากที่มีการนำผลงานไปใช้งานจริง ทีมคณะผู้ประดิษฐ์ได้มีการนำผลตอบรับกลับมาปรับปรุง และพัฒนาต่อยอดเป็นเวอร์ชั่น 2 ซึ่งได้รับงบสนับสนุนจาก วช. ในปีงบประมาณ 2563 โดยปรับปรุงจากเวอร์ชั่นเดิมให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากขึ้น จากเวอร์ชั่นแรก โจทย์ในการพัฒนาคือสามารถ หารอยลายนิ้วมือแฝงบนวัตถุพยานที่เป็นโลหะ แต่เวอร์ชั่นใหม่ที่พัฒนาขึ้นนี้ จะเน้นที่การตรวจปลอกกระสุนปืนโดยเฉพาะ เนื่องจากปลอกกระสุนปืนเป็นวัตถุพยานที่เจอในสถานที่เกิดเหตุจริงจำนวนมากโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ด้วยวิธีการพิสูจน์หารอยลายนิ้วมือที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะหารอยลายนิ้วมือได้ค่อนข้างยาก
“เครื่องตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงเวอร์ชั่นล่าสุดนี้ สามารถตรวจปลอกกระสุนปืนได้ทุกขนาดทุกประเภท สามารถตรวจหารอยลายนิ้วมือได้รวดเร็วภายใน 20 วินาที จากเวอร์ชั่นแรกที่ใช้เวลาประมาณ 60 วินาที นอกจากนี้ยังได้ออกแบบให้ใช้งานได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น สามารถตรวจสอบหารอยลายนิ้วมือได้ภายในขั้นตอนเดียว โดยคณะผู้ประดิษฐ์ได้พัฒนาเครื่องเป็น 2 รุ่น ทั้งแบบใช้ในห้องปฏิบัติการที่ตรวจได้ครั้งละ 10 ปลอก และแบบพกพาที่ตรวจได้ครั้งละ1 ปลอก แต่สามารถตรวจในที่เกิดเหตุได้ทันที ทำให้เกิดความรวดเร็วในการส่งหลักฐานไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลและสามารถสกัดจับผู้ต้องสงสัยได้อย่างทันท่วงที”
สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ยังคงใช้หลักการเดิมคือ การประยุกต์ใช้เซลล์ไฟฟ้าเคมีอย่างง่าย ด้วยการนำขั้วไฟฟ้าที่เฉื่อยต่อการเกิดปฏิกิริยามาต่อเข้ากับแหล่งจ่ายไฟฟ้าและนำเอาวัตถุพยานที่ต้องการหารอยนิ้วมือมาต่อเข้ากับอีกขั้ว โดยขั้วไฟฟ้าทั้งสองจะจุ่มอยู่ในสารละลายอิเล็กโทรไลต์ ซึ่งบริเวณที่เป็นรอยนิ้วมือแฝงจะมีโปรตีนเกาะอยู่ จึงมีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า ทำให้เกิดภาพคอนทราสท์ระหว่างพื้นผิวโลหะกับรอยนิ้วมือ และส่งผลให้เกิดเป็นภาพรอยนิ้วมือปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ในเวอร์ชั่นล่าสุด ยังได้ปรับรูปแบบตัวเครื่องโดยใช้การออกแบบเชิงวิศวกรรมเข้ามาช่วย และผลิตตัวเครื่องต้นแบบด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติหรือ 3D พริ้นเตอร์
ล่าสุดเมื่อ 27 มกราคม 2565 คณะผู้ประดิษฐ์ และ วช. ได้มีการส่งมอบต้นแบบเครื่องตรวจหารอยนิ้วมือแฝง ฯ ที่พัฒนาขึ้นนี้ ให้กับศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ที่มีความรับผิดชอบหลักครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจับกุมผู้ก่อการร้ายและผู้ก่ออาชญากรรมในคดีต่างๆ พร้อมทั้งได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กับตัวแทนเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานของศูนย์พิสูจน์หลักฐานต่างๆ ในประเทศไทย อย่างไรก็ดี คณะผู้ประดิษฐ์อยู่ระหว่างการของบประมาณสนับสนุนการผลิตนวัตกรรมดังกล่าวเพื่อขยายผลใช้งานในทุกศูนย์พิสูจน์หลักฐานทั่วประเทศ.
Discussion about this post