โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ “ตรวจไว สู้ภัยมะเร็งปอด” นำนวัตกรรม AI เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหามะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ที่อาจมีขนาดเล็กหรือมองเห็นได้ยากด้วยการเอ็กซ์เรย์ทรวงอกภายใต้บริการตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ช่วยให้แพทย์ทำการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาที่รวดเร็วและลดอัตราการเสียชีวิตได้ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดงาน ณ ลาน Eden ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะต้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็ว เพราะในผู้ป่วยบางรายมะเร็งปอดมักไม่แสดงอาการจึงเป็นผลให้การตรวจเจอพบในระยะที่ 4 ทำให้การรักษายากขึ้น ดังนั้นเมื่อตรวจเจอไวก็จะสามารถรักษาได้ไว ทั้งนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการยกระดับในการรักษาบำบัดโรคมะเร็ง จึงได้มีแนวทางในการกำหนดนโยบาย มะเร็งรักษาได้ทุกที่ ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ปีที่ผ่านมาได้จัดหา เครื่องฉายรังสีเพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ได้มาตรฐาน แม่นยำ รวดเร็วเพิ่ม 7 เครื่อง ติดตั้งที่เขตสุขภาพ รวมของเดิมที่มีอยู่แล้วกว่า 20 เครื่องที่ให้บริการทั่วประเทศ ซึ่งในอนาคตจะมีการจัดหาเพิ่มขึ้น
“โครงการนี้ฯ ที่รพ.บ้านแพ้ว ได้ร่วมกับภาคเอกชน ในการให้บริการสาธารณสุขด้วยการนำร่องตรวจคัดกรองมะเร็งปอดฟรี ซึ่งเป็นการอำนวยคงามสะดวกให้กับประชาชนที่มีการมาเดินห้างสรรพสินค้า หรือที่ไม่มีความสะดวกที่จะไปโรงพยาบาล นับว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งในการให้บริการทางระบบสาธารณสุขที่ช่วยผู้ป่วยได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว” อนุทิน กล่าว
นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า มะเร็ง นับว่าเป็นโรคที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดในประเทศ โดยโรคมะเร็งปอดมักจะตรวจเจอในระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้ายแล้ว จึงทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งในไทยพบผู้ป่วยมะเร็งปอด 47 คน/วัน หรือประมาณ 17,000 คน/ปี จากเดิมการตรวจเอกซเรย์ปอด ในการคัดกรองหามะเร็ง จะต้องให้แพทย์อ่านผลเอกซเรย์ก่อน จะใช้เวลาค่อนข้างนาน ดังนั้นในการพัฒนาด้านแพทย์ได้เห็นประโยชน์ในการนำนวัตกรรม AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจมะเร็งปอดเพื่อคัดกรองให้เจอตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น มีความรวดเร็วและแม่นยำ โดยโซลูชัน AI ได้รับการพัฒนามาจากภาพถ่ายรังสีทรงงอกกว่า 1.5-2 ล้านภาพ สามารถตรวจและระบุตำแหน่งปอดที่ผิดปกติได้ถึง 29 แบบ ภายในเวลาไม่ถึงนาที รวมไปถึงสิ่งบ่งชี้ที่จะเป็นมะเร็งปอดโดยมีการวิจัยพัฒนามากว่า 2 ปี เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่พบได้ทั่วไปจากภาพถ่ายรังสีทรวงอกและผลลัพธ์ที่ได้มีความแม่นยำมากกว่า มีความปลอดภัย
นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้เปลี่ยนไป ชอบเดินห้างมากกว่าไปโรงพยาบาล อีกทั้งการตรวจให้บริการก็ใช้เวลาเพียง 3 นาที และตรวจฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ในอนาคตการตรวจมะเร็งปอดอาจจะถูกบรรจุอยู่ในสิทธิประโยชน์ ตามความเห็นชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งบูธของโครงการฯ ได้มาตั้งที่เซ็นทรัลเวิลด์ตั้งแต่เมื่อวาน พบว่ามีเคสจากผู้มาใช้บริการอายุเพียง 30 ปีต้นๆ พบก้อนมะเร็ง โดยตลอดระยะเวลาของโครงการฯคาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการประมาณ 40,000 คน และคาดว่าจะมีการขยายผลไปยังโรงพยาบาลชุมชนในการนำนวัตกรรม AI ไปใช้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น
สำหรับการสังเกตอาการมะเร็งปอด เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายเบื่ออาหาร เจ็บหน้าอก เจ็บหัวไหล่ ปอดติดเชื้อง่าย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยมีปัจจัยเสี่ยง อาทิ สูบบุหรี่ หรือสูดควันบุหรี่ พันธุกรรม สัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น แร่ใยหิน ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย หรือมลภาวะทางอากาศ เป็นต้น และสูดฝุ่นละออง ในสภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองเป็นพิษ
อย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดผ่านเครื่องเอกซเรย์ ฟรี ภายในงาน “ตรวจไว สู้ภัยมะเร็งปอด” ในวันที่ 20 เม.ย.2565 เวลา 16.00น.- 19.00 น. และวันที่ 21 – 24 เม.ย.2565 เวลา 11.00 น.- 19.00 น. ชั้น1 โซน Eden ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หน่วยเอกซเรย์ปอดเคลื่อนที่ตามสาขาต่างๆในเครือเซ็นทรัล อาทิ ห้างสรรพสินค้าโรบินสันลาดกระบัง,ศูนย์การค้าเซ็นทรัลอิสต์วิลล์ ,ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า และศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม2 คาดว่าช่วยคัดกรองได้40,000ราย
โดยสามารถติดตามตารางการให้บริการและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Banphaeo General Hospital โรงพยาบาลบ้านแผ้วองค์กรมหาชน(@BGHHOSP)
Discussion about this post