แม้ประเทศไทยกำลังเร่งสปีดเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศสู่พลังงานสะอาด เพื่อตอบโจทย์ปัญหาภาวะโลกร้อนและเท่าทันกับรูปแบบความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป แต่ก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างมีสติ รอบด้าน และคำนึงถึงประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม เพราะประเทศเรายังมีความจําเป็นต้องพึ่งพา ‘โรงไฟฟ้าหลัก’ เพื่อดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศในช่วงที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้พัฒนาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นสู่การเป็น โรงไฟฟ้ายืดหยุ่น (Flexible Power Plant) และ โรงไฟฟ้าดิจิทัล (Digital Power Plant) เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
โรงไฟฟ้ายืดหยุ่นเสริมแกร่งระบบไฟฟ้า
การเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนทำให้โรงไฟฟ้าหลักมีความจำเป็นต้องเดินเครื่องในอัตราต่ำเพื่อช่วยเหลือระบบ หากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหายไปอย่างกะทันหัน โรงไฟฟ้าของ กฟผ. จึงต้องรับบทบาทในส่วนนี้ เพราะการเดินเครื่องในอัตราที่ต่ำจะต้องใช้เชื้อเพลิงมากกว่าปกติทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
กฟผ. ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับปรุงโรงไฟฟ้าวังน้อยชุดที่ 4 จ.พระนครศรีอยุธยา ให้เป็นโรงไฟฟ้ายืดหยุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถตอบสนองต่อการเดินเครื่องได้ไว เช่น จากเดิมต้องใช้เวลาสำหรับเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า 4 ชั่วโมง ลดเวลาเหลือเพียง 2 ชั่วโมง สามารถเดินเครื่องในอัตราต่ำที่สุดได้ดีกว่าเดิม จาก 450 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้นจาก 15 เมกะวัตต์ต่อนาที เป็น 50 เมกะวัตต์ต่อนาที
หากในอนาคตเมื่อพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบมากขึ้นก็จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้ายืดหยุ่นที่สามารถเดินเครื่องเพื่อช่วยเหลือระบบในลักษณะนี้เพิ่มตามไปด้วย ซึ่ง กฟผ. มีแผนปรับปรุงโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ให้เป็นโรงไฟฟ้ายืดหยุ่นเพิ่มเติม ได้แก่ โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครใต้
นอกจากนี้ กฟผ. ยังตั้งเป้าพัฒนาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. สู่การเป็นโรงไฟฟ้าดิจิทัล ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง มีความแม่นยำ ถูกต้อง และรวดเร็ว ควบคุมสั่งการผ่านระบบดิจิทัลที่สามารถวิเคราะห์และประมวลผลการทำงานแบบอัตโนมัติ ทำให้โรงไฟฟ้ามีศักยภาพและมีความพร้อมจ่ายสูง ได้แก่
ระบบ PMAS (Predictive Maintenance Analytics System) เป็นระบบที่สามารถคาดการณ์ความขัดข้องเสียหายของเครื่องจักรและแจ้งเตือนล่วงหน้าแบบอัตโนมัติ เพื่อให้ตัดสินใจวางแผนงานบำรุงรักษาได้อย่างเหมาะสม
ระบบ PMDS (Performance Monitoring and Loss Diagnostic System) เป็นระบบวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับติดตามสมรรถนะของอุปกรณ์ภายในโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดเวลา ช่วยลดผลกระทบความสูญเสียจากการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ กฟผ. ได้นำร่องระบบดังกล่าวเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ อาทิ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1, 2 โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 โรงไฟฟ้าพระนครใต้ชุดที่ 3-4
การพัฒนาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ไม่เพียงมุ่งเน้นการปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ประสิทธิภาพสูง รองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เท่านั้น หากแต่ยังมีเป้าหมายสำคัญคือการดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศให้เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดได้อย่างราบรื่น โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้ไฟฟ้าและการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน
Discussion about this post