สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หนุนทุนวิจัย มหาวิทยาลัยบูรพา พัฒนาบ่อดินให้เป็นบ่อเลี้ยงหอยแครงในระบบปิดด้วยการผลิตแพลงก์ตอนพืช เพื่อช่วยเกษตรกร ลดผลกระทบจากปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม หรือน้ำเสียได้สำเร็จ
การเลี้ยงหอยแครงในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลของไทย ประสบปัญหาด้านคุณภาพน้ำเสียที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเลมาอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรได้ปรับมาใช้วิธีการเลี้ยงหอยแครงในบ่อดิน แต่ยังคงต้องใช้เวลาเลี้ยงหอยแครงนาน และการเจริญเติบโตยังไม่เต็มที่
คณะนักวิจัย นำโดย ดร.ไพฑูรย์ มกกงไผ่ แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ศึกษาวิจัยและดำเนินการถ่ายทอด โครงการพัฒนาบ่อดินให้เป็นบ่อเลี้ยงหอยแครงในระบบปิดด้วยการผลิตแพลงก์ตอนพืช (สาหร่ายเซลล์เดียว) ร่วมกับเกษตรกรกลุ่มเพาะเลี้ยงหอยแครง ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม โดยการสนับสนุนทุนวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อช่วยเกษตรกร ลดผลกระทบจากปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม หรือน้ำเสียได้สำเร็จ
ไพฑูรย์ มกกงไผ่ เปิดเผยว่า การเลี้ยงหอยแครงโดยวิธีนี้ สามารถทำตามได้ไม่ยาก ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน แต่ตอบโจทย์และสร้างประโยชน์ได้มาก แก่เกษตรกร ชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการนำความรู้จากงานวิจัยลงสู่ฐานรากการเกษตรอย่างแท้จริง โดยได้เตรียมขยายผลองค์ความรู้ต่อไปยังเครือข่ายผู้เลี้ยงหอยแครงในจังหวัดตราด และกลุ่มเครือข่ายอื่นที่สนใจ
โดยนำหอยแครง มาเลี้ยงในบ่อดินให้เป็นระบบปิด ทำการกักน้ำทะเล ที่ระดับความลึกไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร /บ่อขนาด 6 ไร่ เพื่อป้องกันอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น สร้างการหมุนเวียนของกระแสน้ำและเพิ่มระบบการเติมออกซิเจนด้วยกังหันลมพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมกับเสริมการเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนพืช (สาหร่ายเซลล์เดียว) ให้มีปริมาณมากกว่าที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารให้กับหอยแครง โดยเน้นใช้ในช่วงการปิดบ่อเพื่อเลี่ยงน้ำเสียหรือในฤดูฝนที่น้ำมีความเค็มต่ำกว่า 21 ส่วนในพันส่วน ในกรณีการเร่งการเจริญเติบโตของหอยแครง จะปล่อยแพลงก์ตอนในอัตรา 45,000 ลิตร/บ่อขนาด 6 ไร่/ครั้ง ในทุก 3 วัน หรือหากต้องการให้มีการเจริญเติบโตตามปกติ จะปล่อยแพลงก์ตอน ทุก 9 วัน โดยมีการสลับช่วงให้หอยแครงได้รับอาหารตามธรรมชาติอีกด้วย
“เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยแครงด้วยบ่อดินระบบปิด แบบใช้แพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร ต่างได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการเลี้ยงแบบเดิม โดยหอยแครงมีการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ รสชาติอร่อย ขนาดตัวใหญ่ตามความต้องการของตลาด จึงขายได้ในราคาที่ดี ช่วยส่งเสริมให้อาชีพการเลี้ยงหอยแครงมีความมั่นคง และสร้างแหล่งอาหารที่มีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค” ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์ องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และชุมชน โดยความร่วมมือของภาคส่วนวิจัยที่มีความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้ไปพัฒนากระบวนการผลิต การพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน ปราชญ์ชุมชน ปราชญ์เพื่อความมั่นคงและประชาชน ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน สร้างฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
Discussion about this post