ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ หรือโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ถือเป็นโรคที่นับว่าเป็นความพิการตั้งแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ซึ่งพบมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของความผิดปกติในทารกแรกเกิด โดยในประเทศไทยมีอัตราอยู่ที่ 0.58-2.49 คน ต่อทารกแรกเกิด 1,000 ราย มีโอกาสเพิ่มอัตราสูงถึง 600-700 รายต่อปี นอกจากนี้ปากแหว่งเพดานโหว่ยังเป็นภาวะที่มีความบกพร่องหลายอย่างร่วมกัน อาทิ โครงสร้างของปากและใบหน้าผิดปกติ, ปัญหาในการดูดกลืนอาหา, มีพัฒนาการและการเจริญเติบโตช้า, หูน้ำหนวก, การสบกันของฟันผิดปกติ และปัญหาในการพูด ได้แก่ พูดไม่ชัด เสียงขึ้นจมูก เสียงแหบ พูดฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งปัญหาหลักเหล่านี้ล้วนส่งผลทางลบต่อภาพลักษณ์ การสื่อสารในชีวิตประจำวันในสังคมและการประกอบอาชีพของบุคคลที่เป็นโรคนี้ ซึ่งสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้หากได้รับการวินิจฉัย และแก้ไขแต่เนิ่น ๆ
แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงของสถานบริการ และนักแก้ไขการพูดจึงทำให้เด็กหลายคนยังไม่ได้รับโอกาสเข้ารักษา ด้วยเหตุนี้เองทางทีมนักวิจัยจากหน่วยวิจัยวิทยาการสื่อสารของมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (HCCRU) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ ศ. ดร. เบญจมาศ พระธานี นักแก้ไขการพูด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผศ. ดร.กัลยาณี มกราภิรมย์ นักแก้ไขการพูด คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้คิดค้นนวัตกรรม Naso-articulometer เพื่อช่วยลดเวลาการทำงานของนักแก้ไขการพูดและเพิ่มโอกาสในการรักษาให้กับเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ขึ้นมา
Naso-articulometer คืออะไร
Naso-articulometer เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยตรวจประเมินการแปรเสียงและการสั่นพ้องของเสียงพูด เพื่อเป็นมาตรฐานในการช่วยประเมินการพูดไม่ชัด และการสั่นพ้องของเสียงผิดปกติได้ในเวลาเดียวกัน
ลักษณะและการทำงานของ Naso-articulometer
Naso-articulometer เป็นเครื่องมือในการเก็บเสียงมีลักษณะเป็นชุดครอบศีรษะ (Headset) ที่มีไมโครโฟนรับพลังงานเสียงจากปากและจมูกแยกกัน โดยมีแผ่นโลหะกั้นระหว่างไมโครโฟนเพื่อเก็บเสียงแล้วนำมาวิเคราะห์หาสัดส่วนพลังงานของเสียงที่ออกทางจมูกและปากโดยอาศัยซอฟต์แวร์ที่พัฒนาบนแท็บเล็ต 2 เครื่อง สำหรับผู้ป่วยและนักแก้ไขการพูดขึ้นมาช่วยวิเคราะห์โดยอัตโนมัติ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ทำให้แพทย์สามารถมาตรวจประเมินได้อีกในภายหลัง
Contact
หน่วยวิจัยวิทยาการสื่อสารของมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (HCCRU)
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
112 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี ประเทศไทย 12120
Tel : 02-5646900
E-mail : info@nectec.or.th
ที่มา : nectec.or.th
Discussion about this post