มะเร็งช่องปากและเนื้องอกในช่องปากถือว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อย และเป็นอีกหนึ่งโรคที่อันตรายถึงชีวิต ล้วนมีปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันสำหรับคนบางกลุ่ม เกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และจะพบมากในกลุ่มคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และดูเหมือนว่าจำนวนผู้ป่วยใหม่จะเพิ่มขึ้น การรักษาหลักๆ ยังคงใช้การผ่าตัด ซึ่งมีความซับซ้อนและยุ่งยาก กว่าจะได้ใบหน้าและการสบฟันที่ดี เช่นเดียวกับ “ใบหน้าและขากรรไกร” ถือเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนในการรักษา นอกจากประกอบด้วยโครงสร้างที่ควรมีความสมมาตรสวยงาม ยังรวมไปถึงระบบบดเคี้ยวและการสบฟันที่ดี ที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ได้ผ่าตัดเนื้องอกในช่องปากและสร้างขากรรไกรโดยใช้กระดูกน่องและต่อเส้นเลือดร่วมกับการใส่ฟันปลอมยึดด้วยรากเทียมครั้งแรกในประเทศไทย”
นับเป็นการยกระดับการบูรณะขากรรไกรอย่างครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอน การผ่าตัดนำกระดูกขากรรไกรออก ต่อเนื่องไปถึงการใช้ระบบคอมพิวเตอร์วางแผน 3 มิติ ในการนำกระดูกน่องมาบูรณะบริเวณช่องปาก ซึ่งได้ลดระยะเวลาการรักษาเป็นอย่างมาก ผลการรักษามีความแม่นยำ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีต่อผู้ป่วย นับเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยที่ยกระดับการผ่าตัดบูรณะใบหน้าและขากรรไกรให้สำเร็จเร็วขึ้นและปลอดภัย
รศ.ดร.ทพ.ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะทันตแพทยศาสตร์ มหิดล ได้ให้การผ่าตัดและดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของใบหน้าและขากรรไกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดรักษามะเร็งและเนื้องอกในช่องปาก มีการส่งแพทย์และทันตแพทย์เรียนต่อเฉพาะทาง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เพิ่มขีดความสามารถในการผ่าตัดที่ยุ่งยากและซับซ้อนขึ้น ปัจจุบันมีทีมผ่าตัดที่มีความเชี่ยวชาญ โดยสามารถให้การรักษาอย่างเป็นองค์รวม และสามารถให้การรักษาตั้งแต่ผ่าตัดจนกระทั่งถึงการบูรณะการบดเคี้ยวได้เป็นอย่างดี โดยบุคลากรของโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถดูแลช่องปากผู้ป่วยได้อย่างเป็นองค์รวม และ วางแผนที่จะพัฒนาเป็น Excellence Center ด้านการผ่าตัดเนื้องอกและมะเร็งช่องปากในอนาคตอันใกล้
ผศ.ดร.นพ.ทพ.บวร คลองน้อย หัวหน้าโครงการและทีมแพทย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การนำกระดูกน่องและเส้นเลือดมาบูรณะขากรรไกรถือเป็นหัตถการที่ทำเพื่อบูรณะรอยโรคในช่องปากที่ต้องได้รับการตัดขากรรไกรมาอย่างยาวนาน โดยมีการใช้ครั้งแรกเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ประเทศไทยเริ่มนำกระดูกน่องมาบูรณะขากรรไกร ในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีครั้งใดที่สามารถบูรณะกระดูกขากรรไกรต่อเนื่องไปจนถึงการบูรณะฟันให้คนไข้สำเร็จภายในการรักษาเพียงครั้งเดียว ซึ่งการผ่าตัดในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการบูรณะขากรรไกรให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย โดยที่หากไม่ได้รับการรักษาบูรณะและทำฟันปลอมในห้องผ่าตัดเลย อาจจะต้องรอ อย่างน้อย 1-2 ปี จึงจะได้รับการ ใส่ฟันเทียม หรือในบางครั้ง ด้วยความซับซ้อนของการรักษาผู้ป่วยอาจสูญเสียฟันไปเป็นการถาวร
นพ.ทพ.คณิน อรุณากูร แพทย์เจ้าของไข้ กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อการเริ่มต้นวางแผนการรักษาผู้ป่วยรายนี้ในครั้งแรกว่า เนื่องด้วยผู้ป่วยรายนี้ อายุอยู่ในวัย 20 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรง จึงอยากวางแผนบูรณะขากรรไกรและการสบฟันให้ได้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด มีเป้าหมายที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคี้ยวอาหาร และใช้ชีวิตปกติได้เช่นเดิมอย่างรวดเร็ว เพื่อสภาวะจิตใจและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถและการวางแผนอย่างเป็นองค์รวมจากหลายสาขาและการช่วยวางแผนด้วยวิธีทางดิจิตอล มาพัฒนาการผ่าตัดให้มีความถูกต้องแม่นยำเพื่อให้การรักษาสำเร็จทั้งหมดในขั้นตอนเดียว หรือเรียกการผ่าตัดลักษณะนี้ว่า “Jaw in a Day” โดยตนยังเชื่อมั่นในทีมผ่าตัดและทีมใส่ฟัน จึงตัดสินใจเลือกการวางแผนการรักษานี้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่แพทย์สามารถสร้างให้ผู้ป่วยได้
ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดขากรรไกรล่างออกไปเพราะเนื้องอก ซึ่งจะสูญเสียฟันออกไปด้วย 10 ซี่ แต่ด้วยเทคนิค Fibula Jaw in a day ผู้ป่วยสามารถมีฟันติดแน่นออกจากห้องผ่าตัดได้เลย ไม่ต้องรออีกหลายปีเหมือนที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิต และยกมาตรฐานการรักษาสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ในประเทศไทย
ทพญ.วรุตตา เกษมศานติ์ อาจารย์ผู้มีประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยี 3 มิติมาใช้วางแผนการรักษาทางศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล กล่าวถึงขั้นตอนการวางแผนการผ่าตัด โดยเริ่มต้นจากการตรวจใบหน้า การเอกซเรย์สามมิติของกะโหลกศีรษะ การใช้เทคโนโลยี สแกนช่องปาก เพื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดเข้าวางแผนในโปรแกรม 3 มิติ จำลองการผ่าตัดขากรรไกรบริเวณที่มีรอยโรคออกไป และใช้เอกซเรย์ 3 มิติของกระดูกน่องมาทดแทน โดยวางแผนในโปรแกรมเพื่อให้เกิดความแม่นยำ และลดระยะเวลาการตัดแต่งในห้องผ่าตัด ทั้งนี้ได้มีการจัดทำแบบนำร่องการตัดกระดูกขากรรไกร และแบบนำร่องการตัดกระดูกน่อง (surgical guide) ให้มีความพอดีกัน เมื่อผ่าตัดกระดูกขากรรไกรที่มีรอยโรคออกไปจึงมีการวางตำแหน่งของกระดูกน่องให้เป็นไปตามแนวของรากเทียมและฟันเทียม เพื่อให้สามารถบูรณะการสบฟันของผู้ป่วยในห้องผ่าตัดได้ทันที
ทพญ.สุขกาญจน์ เต็มคำขวัญ หนึ่งในทีมทันตแพทย์ผู้ผ่าตัด กล่าวว่า ความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการมีความตั้งใจที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด แม้ว่าจะต้องมีความยุ่งยากในการวางแผนมากขึ้นแต่การทำการวางแผนโดยโปรแกรม 3 มิติมาก่อน ทำให้ลดเวลาในการผ่าตัดได้มาก ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการรักษา เนื่องจากเป็นการนำกระดูกและเส้นเลือดจากบริเวณขามาต่อกับเส้นเลือดที่ลำคอ หากใช้เวลาในการผ่าตัดนานเกินไปอาจทำให้เนื้อเยื่อที่นำมาปลูกไม่รอดชีวิต การผ่าตัดผู้ป่วยในครั้งนี้ยังได้เป็นการสร้างมาตรฐานและเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของการผ่าตัดบริเวณใบหน้าและขากรรไกรที่ประสบผลสำเร็จ เป็นการแสดงให้เห็นว่าทีมแพทย์ของประเทศไทยนั้น มีศักยภาพไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่น
Discussion about this post