“ข้าวเหนียว” ถือเป็นสินทรัพย์ทางชีวภาพของและทางวัฒนธรรมของชุมชนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวกลับมีรายได้ต่ำ เนื่องจากการสูญเสียผลผลิตจากเหตุปัจจัยหลายด้านและความไม่แน่นอนของตลาด การส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวให้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมอย่างเช่นการใช้ “แหนแดง” จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตข้าว ยกระดับการผลิต และเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ตามแนวทางการพัฒนาด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี
ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และผู้ประสานงานโครงการ BCG-NAGA Belt Road กล่าวว่า โครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง หรือ BCG-NAGA Belt Road เป็นโครงการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน มีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เชียงราย อุดรธานี และนครพนม โดยได้เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ตลอดจนบูรณาการองค์ความรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจร
“หนึ่งในปัญหาสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวคือปัญหาปุ๋ยมีราคาแพง ดังนั้นเราจึงต้องหาวัสดุที่จะใช้ทดแทนปุ๋ยหรือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการให้ผลผลิตได้ ซึ่งแหนแดงมีคุณสมบัติดังกล่าว คือเป็นพืชที่ให้ไนโตรเจนสูง จึงใช้แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อเป็นแหล่งไนโตรเจนในนาข้าวทดแทนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ นอกจากนี้แหนแดงยังช่วยลดการเจริญเติบโตของวัชพืชในนาข้าวได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นแหล่งโปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุอาหารต่างๆ สามารถนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ได้”
ทั้งนี้ แหนแดง (Azolla) เป็นเฟิร์นน้ำชนิดหนึ่งที่เจริญเติบโตลอยอยู่บนผิวน้ำในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันกับสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินกลุ่มไซยาโนแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง ซึ่งสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินนี้เองที่ทำหน้าที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ทำให้แหนแดงมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าพืชทั่วไปที่มีไนโตรเจนอยู่เพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ จึงมีการนำแหนแดงมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อเป็นแหล่งไนโตรเจนเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่ว
ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาและคณะทำงานโครงการ BCG-NAGA Belt Road ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แหนแดงช่วยสะท้อนคลื่นความร้อนออกจากผิวน้ำ ทำให้ลดการดูดซับความร้อนไว้ในน้ำได้ และจากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่าอุณหภูมิของน้ำในแปลงนาข้าวที่มีแหนแดงต่ำกว่าอุณหภูมิของน้ำในแปลงนาที่ไม่มีแหนแดงถึง 3 องศาเซลเซียส แหนแดงจึงช่วยลดความเครียดของต้นข้าวจากสภาพอากาศที่ร้อนได้ อีกทั้งแหนแดงยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าวได้เช่นกัน
ปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่องของโครงการ BCG-NAGA Belt Road เลี้ยงแหนแดงในนาข้าวแล้วมากกว่า 24,000 ไร่ ผลิตแหนแดงสดได้มากกว่า 24 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 845 ล้านบาท (คิดจากราคาจำหน่ายแหนแดงสดในท้องตลาดเท่ากับ 35 บาท/กิโลกรัม) และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 400 ตันคาร์บอน คิดเป็นราคาคาร์บอนเครดิตประมาณ 4 แสนบาท (คิดจากราคาคาร์บอนเครดิตเท่ากับ 948.5 บาท/ตันคาร์บอน)
“จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการใช้แหนแดงในนาข้าวช่วยลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ยังให้ผลผลิตในปริมาณคงเดิมหรือมากกว่า ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าปุ๋ยลงได้ ทั้งยังตอบโจทย์การทำเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์อีกด้วย ที่สำคัญเกษตรกรยังจำหน่ายแหนแดงสดเพื่อเพิ่มรายได้ได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้นแหนแดงจึงเป็นกลไกชีวภาพที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกร ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และช่วยรักษาสภาพแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”
Discussion about this post