ช่วงโควิด-19 ที่ทั่วโลกขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ โมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ จึงนับเป็นทางออกให้กับประเทศไทย เพื่อรองรับวิกฤติที่คาดไม่ถึงในอนาคต อีกทั้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ให้ได้ใช้สินค้าคุณภาพ ราคาเข้าถึงได้
โมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขา เครื่องมือแพทย์ เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญของ BCG Economy Modelที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน เทียบเท่าสากล ผลักดันเป็นสินค้าส่งออกได้
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนวัตกรรมการแพทย์จำนวนมากที่ได้รับการออกแบบด้วยฝีมือคนไทย ข้อมูลจาก TDRI เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของสินค้าเครื่องมือแพทย์ในบัญชีนวัตกรรมไทย พบว่า ยอดขายสินค้าเครื่องมือแพทย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม 360 ล้านบาทในปี 2560 – 2563 มีมูลค่าสุทธิของผลกระทบทางเศรษฐกิจ 140 ล้านบาท สถิติการอนุมัติให้การส่งเสริมกิจการผลิตเครื่องมือแทพย์หรือชิ้นส่วนในปี 2560 – 2564 จาก BOI พบว่า มีการลงทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า หรือกว่า 57,329 ล้านบาทในปี 2564 จาก 18,517 ล้านบาทในปี 2564 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไป แต่กลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงยังไม่มีใครลงทุน เพราะยังไม่ดึงดูดการลงทุน
“วีลแชร์ยืนได้” (Standing Wheelchair) นับเป็นหนึ่งนวัตกรรมฝีมือคนไทย จากการออกแบบโดย “ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์” ในฐานะ กรรมการ บริษัท ซีเมดเมดิคอล จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากโปรเจกต์ระหว่างการเรียนปริญญาตรีและโท วิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การหยิบงานวิจัยจากหิ้ง สู่เชิงพาณิชย์ โดยระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จและถูกนำไปใช้จริง รวมถึงส่งประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ที่เกาหลีใต้ และ เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ได้รางวัลเหรียญทอง รวมถึงมีการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว
ธีรพงศ์ เล่าว่า ในระหว่างเรียนซึ่งสามารถเลือกโปรเจกต์ที่ออกแบบได้เพียง 1 อย่าง ดังนั้น จึงมองว่าการเลือกโปรเจกต์ที่ดีที่สุด คือ ต้องมี Impact กับคนอื่น แทนที่จะออกแบบเครื่องจักร จึงเลือกออกแบบเครื่องมือแพทย์ เพราะอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมมากที่สุด
ตอนที่ออกแบบ เรามีความหวังว่าเครื่องมือแพทย์ชิ้นนี้จะช่วยให้คุณภาพชีวิตคนๆ หนึ่งดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หากเรียนจบแล้วไม่ทำอะไรกับเครื่องมือแพทย์ที่เราออกแบบมา ก็จะอยู่แค่ในมหาวิทยาลัย และจะกลายเป็นสิ่งที่คนไทยชอบเรียกกัน คือ “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ไม่ถูกเอาออกมาใช้ หลังจากนั้น จึงเลือกที่จะก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพขึ้น โดยเอาเครื่องมือแพทย์ที่เราออกแบบตอนเรียนมาพัฒนาต่อ แต่การพัฒนาสู่เชิงพานิชย์ นับเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญ เพราะเมื่อนำมาใช้จริง บางอย่างไม่สามารถเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย และด้านต่างๆ ทำให้ต้องใช้ความพยายาม ความมุ่งมั่นค่อนข้างเยอะ
ทำไมวีลแชร์ถึงยืนได้ นี่คือโจทย์ของเรา เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ และประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ของเอเชียที่มีวีลแชร์ยืนได้ รองจาก ญี่ปุ่น ปัจจุบัน วีลแชร์ที่พัฒนาขึ้นมา ได้รับความสนับสนุนจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และล่าสุดได้ทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ราว 2 ล้านบาท”
ธีรพงศ์ เล่าต่อไปว่า หลังจากที่ทำวีลแชร์ ช่วยให้คนพิการสามารถยืนได้ แต่สุดท้าย ก็พบว่าผู้ป่วยบางคนไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองจากเตียงมาใช้วีลแชร์ได้ ดังนั้น จึงต่อยอดสู่ “นวัตกรรมเครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย” สามารถรับน้ำหนักตัวได้ถึง 150 กิโลกรัม มาตรฐานเดียวกับเครื่องที่จำหน่ายในยุโรป ปัจจุบันมีใช้ในโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมถึง ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุรวมกว่า 600 เครื่อง
ความน่าสนใจของ นวัตกรรมเครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย คือ ผู้ใช้ไม่ต้องดัดแปลงรถยนต์ หมายความว่าหากมีผู้ป่วยที่ติดเตียง ซึ่งปกติจะมีผู้ดูแลเพียง 1-2 คนในบ้าน สามารถพาผู้ป่วยไปพบแพทย์และไปข้างนอกได้ ด้วยแท็กซี่ หรือรถที่มีอยู่ โดยไม่ต้องดัดแปลงรถ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาให้สามารถชั่งน้ำหนักผู้ป่วยได้อีกด้วย ซึ่งราคาถูกกว่านำเข้าต่างต่างประเทศราว 2-3 เท่า
สำหรับตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย ธีรพงศ์ มองว่า มีทั้งความยากและความง่าย ในปัจจุบันการแข่งขันค่อนข้างสูง ผู้บริโภคกล้าที่จะซื้อของผ่านออนไลน์โดยที่ไม่รู้ว่าคนขายเป็นใคร ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ทำให้มีเครื่องมือแพทย์เถื่อนจากต่างประเทศเข้ามาเยอะและไม่มีคุณภาพ สิ่งที่จะตามมา คือ ทำให้เกิดอันตรายจากการใช้งาน ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีนี้ การทำตลาด จึงต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภครู้ว่า เครื่องมือแพทย์ที่มีคุณภาพ ควรจะต้องมองดูอย่างไรขณะเดียวกัน การที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย ซึ่งภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญ การมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ จึงนับเป็นโอกาสที่จะส่งเสริม สนับสนุนนวัตกรรมของคนไทย ที่มีคุณภาพ และมีนวัตกรรมเฉพาะ
“ธีรพงศ์” กล่าวต่อไปว่า การสนับสนุนเครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทย สำคัญมาก เพราะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปัจจุบัน มีเป้าหมายหนึ่ง คือ การเป็น Medical Hub ของเอเชียหรือของโลก เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทย รักษาสุขภาพร่างกาย แต่หากมาแล้วมีแค่สถานที่เที่ยว โรงพยาบาล แต่ขาดอุปกรณ์ที่ซัพพอร์ต จะกลายเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่อุปกรณ์ที่ใช้ซัพพอร์ตนักท่องเที่ยว ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น BCG เครื่องมือแพทย์ จึงสำคัญให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้
“ยกตัวอย่าง หน้ากากอนามัยในช่วงโควิด-19 ซึ่งอยู่ๆ บริษัทผู้ผลิตก็หยุดส่งออกให้กับเราในช่วงวิกฤติ ดังนั้น หากเราไม่พัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ สิ่งที่จะตามมา คือ เมื่อเกิดวิกฤติ ก็จะไม่มีบริษัทที่เป็นนวัตกรรม มาช่วยเหลือในวิกฤติตรงนั้นได้ มันคือการพึ่งพาตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ประกอบการ อยากให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เช่น กฎหมายการควบคุมเครื่องมือแพทย์เถื่อน การโฆษณาเกินจริง จะช่วยผู้ประกอบการไทยได้ เพราะปัจจุบัน หากค้นหาข้อมูลสินค้าบางอย่าง สินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์ก็จะขึ้นมาให้เห็น สินค้าบางอย่างมาจากต่างประเทศซึ่งไม่ได้มาตรฐาน ในขณะที่คนไทย ที่นำเข้าเครื่องมือแพทย์มาขายต่อหรือผลิตเองต้องผ่านหลายสเต็ป
“ดังนั้นอยากให้ภาครัฐควบคุมการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องมือแพทย์อย่างเข้มงวด ไม่ใช่เพื่อผู้ประกอบการอย่างเดียว แต่เพื่อคนไทยในประเทศด้วย ที่จะได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ เกิดประโยชน์กับทุกคนในประเทศ” ธีรพงศ์ กล่าว
Discussion about this post