ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมที่มีประชากรผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น โดยร้อยละ 50 พบว่า ภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุกำลังเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากเมื่ออายุเยอะขึ้นจึงมีการสูญเสียระบบรากฟัน ทำให้การเคี้ยวอาหารเป็นเรื่องที่ค่อนข้างทำได้ยาก ส่งผลให้ทานอาหารได้น้อยลง และอาหารในโรงพยาบาลบางส่วนก็ยังวนอยู่ที่เมนูเดิม ๆ พาลให้การทานอาหารในโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่ “น่าเบื่อ” สำหรับใครหลายคน
ทีมวิจัยจากคณะวิศกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.เชียงใหม่ จึงคิดค้นแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การผลิตที่ทันสมัย มาผสมผสานกับด้านโภชนาศาสตร์ พัตนาเป็น “ฟู้ดพร้อม (FoodPrompt)” แพลตฟอร์มชาญฉลาดสำหรับการให้โภชนบำบัดและการผลิตอาหารแบบเฉพาะเจาะจง ผ่านกระบวนการพิมพ์อาหารในรูปแบบใหม่ ๆ ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และยังมีปริมาณสารอาหารที่เหมาะสมกับแต่ละคน
รศ.ดร.วัสสนัย วรรธนัจฉริยา ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข และยังพบว่าผู้ป่วยยังเกิดภาวะแทรกซ้อนและเกิดอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น การทำให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย นอกจากความต้องการด้านโภชนาการที่แตกต่างกันแล้ว ยังต้องมีการติดตามว่าผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้มากน้อยเพียงใด
ฟู้ดพร้อม เป็นการผสมผสานระหว่างปัญญาประดิษฐ์และโภชศาสตร์ การใช้งานแพลตฟอร์มเริ่มต้นจากการบันทึกข้อมูลผู้ใช้งานร่วมกับการวางแผนการดูแลด้านโภชนาการเฉพาะบุคคล ผ่านแอปพลิเคชั่น Foodflow เพื่อกำหนดปริมาณและสารอาหารที่ผู้ป่วยควรได้รับในแต่ละมื้อ ก่อนจะส่งต่อไปยังฐานข้อมูลเพื่อใช้งานร่วมกับ Food Scanner ซึ่งมีทั้งในแอปพลิเคชั่นและคีออส โดยแอปพลิเคชั่นจะสามารถใช้งานได้ทั้งในและนอกโรงพยาบาล อัลกอริทึ่มประมวลผลออกมาเป็นรูปภาพอาหารที่ผู้ป่วยทานได้ในแต่ละมื้อ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาหารมื้อหลัก เพื่อคำนวนปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ได้รับและต้องการเพิ่มเติม
ในส่วนของคีออส จะอยู่ในรูปแบบของเครื่องสแกนอาหารแบบชาญฉลาดในชื่อ “ปิ่นโต (Pinto)” ซึ่งจะให้ความแม่นยำในการวัดปริมาณสารอาหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบจะใช้ข้อมูลก่อนและหลังรับประทานอาหารมาประกอบการประมวลผล หลังจากการประมวลผลสารอาหารที่ผู้ป่วยขาดหายไปแล้ว พยาบาลจะให้ผู้ป่วยเลือกลักษณะของอาหาร และกลิ่นของอาหาร เช่น มีลักษณะเป็นรูปวงกลมคล้ายโอริโอ้ และมีกลิ่นคล้ายขนมเทียน
จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งไปยังวิธีการเพิ่มสารอาหารผ่านเทคโนโลยี “เชฟช้อยส์ (ChefChoice)” หรือ “เครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ (3D Food Printer)” โดยการนำ “หมึกพิมพ์อาหาร (Food Ink)” ที่มีสารอาหารชนิดต่าง ๆ มาใส่ในหลอดเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อการขึ้นรูปอาหารให้มีปริมาณสารอาหารที่เฉพาะเจาะจงกับรายบุคคล โดยเฉพาะสารอาหารในด้านพลังงาน โปรตีน แคลเซียม และวิตามิน D ซึ่งเป็นสารอาหารหลัก ๆ ที่มักพบว่าขาดแคลน
เครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ จะวาดลวดลายต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ และสามารถแต่งกลิ่นได้อย่างที่ผู้ป่วยต้องการ ทำให้ผู้ใช้และผู้สูงอายุเกิดความพึงพอใจในอาหาร ทั้งด้านคุณประโยชน์ที่จะได้รับและด้านสุนทรียภาพในการบริโภคไปพร้อมกัน ผู้ป่วยก็จะได้รับประทานอาหารที่ตนเองได้เลือกไว้ในตอนแรก
“อาหารที่ได้จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะเป็นอาหารในรูปแบบที่พร้อมรับประทาน เพราะสารอาหารที่มาจากหมึกพิมพ์นั้นได้ถูกทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทานได้เลย เครื่องพิมพ์จะใช้เวลา 60-80 วินาทีต่อการพิมพ์อาหาร 1 ชิ้น และสามารถพิมพ์ได้ต่อเนื่องจนกว่าหมึกพิมพ์ในหลอดพิมพ์จะหมด” รศ.ดร.วัสสนัย กล่าว
ผลการทดลองใช้งานจริงกับศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ พบว่า แพลตฟอร์มฟู้ดพร้อมสามารถลดเวลาในการประเมินอาหารของผู้ป่วยลงถึง 50% และมีความคลาดเคลื่อนในระดับที่ยอมรับได้หรือน้อยกว่าร้อยละ 10 และผู้ใช้ก็มีความพึงพอใจในอาหารที่ได้รับ นอกจากผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุแล้ว โครงการยังสามารถประยุกต์ใช้กับผู้ที่ต้องการสารอาหารที่เจาะจง ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาด้านการบริโภค กลุ่มที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือกลุ่มผู้รักสุขภาพ และมีโอกาสต่อยอดไปยังกลุ่มแพลนท์เบส
ซึ่ง รศ.ดร.วัสสนัย อธิบายว่า แนวคิดของแพลตฟอร์มได้ผ่านการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเพื่อให้เกิดความแม่นยำกว่าที่เป็นอยู่ต่อไป
Discussion about this post