คงไม่มีใครอยากถูกแทงเข็มฉีดยาซ้ำๆ ยิ่งถ้าเป็นการแทงเข็มเข้าช่องน้ำไขสันหลังด้วยแล้ว ก็คงภาวนาให้คุณหมอแทงเข็มได้อย่างตรงจุด แม่นยำและทำเพียงครั้งเดียว! แต่โอกาสที่จะพลาดก็เกิดขึ้นได้ขึ้นกับประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ รวมถึงลักษณะทางกายภาพของผู้ป่วย
“การแทงเข็มเข้าสู่ช่องน้ำไขสันหลัง หากผิดพลาดเพียงนิดเดียวก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งชีวิต! เราไม่ต้องการเห็นผู้ป่วยเจ็บปวดทรมานและได้รับอันตรายจากการรักษา” รองศาสตราจารย์ พญ.เกศชาดา เอื้อโพโรจน์กิจ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงแรงจูงใจในการออกแบบและประดิษฐ์อุปกรณ์นำทางเข็มสำหรับเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อการเจาะเข้าไข้สันหลัง หรือ PASS – Point-Assisted Spinal Sonography เพื่อยกระดับมาตรฐานของการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น
นวัตกรรมนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์และวิศวกรรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคณะผู้วิจัย นอกจาก รศ.พญ.เกศชาดา แล้ว ยังประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ พญ.วิรินารี คำพิทักษ์ และ อาจารย์ พญ.บรรจบพร ทรงธรรมวัฒน์ จากภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระยุทธ ศรีธุระวานิช และนายทิวา นันตะภักดิ์ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
จุดเริ่มต้นนวัตกรรม PASS
รศ.พญ.เกศชาดา อธิบายว่า การแทงเข็มเข้าสู่ช่องน้ำไขสันหลังเป็นวิธีการที่ใช้ในการระงับปวดในการผ่าตัด หรือที่เรียกว่า การบล็อกหลัง (spinal anesthesia หรือ spinal block) เป็นการระงับประสาทรับรู้ความรู้สึกโดยการให้ยาชาผ่านทางช่องน้ำไขสันหลัง ทำให้ร่างกายผู้ป่วยขยับไม่ได้และชาครึ่งตัวตั้งแต่ช่องท้องลงไปถึงปลายเท้า วิธีนี้มักนำมาใช้ระงับปวดในการผ่าตัด เช่น การผ่าคลอด การผ่าตัดมดลูก รังไข่ ไส้เลื่อน ไส้ติ่ง ข้อสะโพก เข่า ขา ความเจ็บปวดจากการคลอดบุตรแบบธรรมชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ การแทงเข็มเข้าช่องน้ำไขสันหลังยังใช้ในการรักษา เช่น การให้ยาเคมีบำบัด และการตรวจวินิจฉัยโรค อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว การติดเชื้อไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
“วิสัญญีแพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนตะแคงโก่งงอตัว หรือนั่งก้มไปข้างหน้าเพื่อคลำช่องกระดูกสันหลังสำหรับแทงเข็มฉีดยาชาเข้าสู่ช่องน้ำไขสันหลัง เพื่อระงับความรู้สึกกลุ่มประสาทช่วงล่างของร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะและหลังผ่าตัด ลดการใช้ยาดมสลบ ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวขณะผ่าตัด ซึ่งมีความปลอดภัยและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการดมยาสลบ อีกทั้งยังลดการแพร่เชื้อโรคระบาดทางการหายใจ ได้แก่ โควิด-19 ด้วย หรืออาจให้ยาสลบร่วมกับการให้ยาชาบล็อกหลัง ก็จะช่วยเร่งการฟื้นตัวหลังผ่าตัด และกลับบ้านได้เร็ว”
โดยทั่วไป การแทงเข็มเข้าสู่ช่องน้ำไขสันหลัง แพทย์ต้องคลำปุ่มกระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง พร้อมกับกะประมาณทิศทาง และความลึกในการแทงเข็มเข้าไปที่ช่องน้ำไขสันหลัง การกะระยะของช่องกระดูกสันหลังส่วนเอว ระดับที่ 2 – 3 หรือ 3- 4 ซึ่งอาจจะไม่สามารถทำให้สำเร็จทุกครั้ง
“การแทงเข็มเข้าสู่ช่องน้ำไขสันหลังอาจไม่สำเร็จในการแทงครั้งเดียว ทำให้คนไข้อาจต้องทนทรมานกับการแทงหลายครั้งเพื่อเข้าถึงตำแหน่งช่องน้ำไขสันหลังได้ เนื่องจากช่องน้ำไขสันหลังอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างลึกมาก มีกระดูก เนื้อเยื่อ และเอ็นบดบังอยู่ ดังนั้น เข็มต้องลอดช่องเล็กๆ ที่ตามองไม่เห็น”
รศ.พญ.เกศชาดา กล่าวว่าโอกาสผิดพลาดในการเล็งองศาแทงเข็มมีประมาณร้อยละ 10-50 ของการแทงเข็ม ขึ้นกับประสบการณ์และความชำนาญของวิสัญญีแพทย์ รวมถึงอายุและลักษณะทางกายภาพของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยที่มีลักษณะทางกายภาพที่ทำให้แทงเข็มได้ยาก เช่น มีน้ำหนักตัวมาก มีความโค้งของกระดูกสันหลังผิดปกติ หรือมีช่องกระดูกแคบ
“ยิ่งผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือมีกระดูกสันหลังคด มีช่องกระดูกแคบ มีการใส่เหล็กดามกระดูกสันหลัง เหล่านี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่แพทย์จะแทงเข็มไม่สำเร็จ และมีโอกาสผิดพลาดไปโดนกระดูกหรือเส้นประสาท ไขสันหลังนั้น ผู้ป่วยจะเจ็บปวดมาก บางรายอาจมีเลือดออกภายใน และยังเสี่ยงเป็นอัมพาตอีกด้วย”
ดังนั้น การนำอัลตราซาวด์ (Ultrasound) มาช่วยในการเข้าถึงช่องน้ำไขสันหลังจึงเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่เพิ่มโอกาสการทำหัตถการให้สำเร็จ เนื่องจากช่วยให้เห็นภาพที่ระบุตำแหน่ง ทิศทางและความลึก สามารถแทงเข็มได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
PASS กำหนดจุดแทงเข็มแม่นยำ เพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย
อุปกรณ์นำทางเข็มสำหรับเครื่องอัลตราซาวด์ เพื่อเจาะช่องน้ำไขสันหลัง หรือ Point-Assisted Spinal Sonography – PASS เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาให้ใช้ประกบกับหัวตรวจของอัลตราซาวด์ ที่ใช้สแกนหาตำแหน่ง องศา และความลึกของการแทงเข็มเข้าช่องน้ำไขสันหลังให้แม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อลดโอกาสแทงเข็มผิดไปชนกระดูกสันหลัง และลดความเจ็บปวดให้ผู้ป่วย
“ในทางปฏิบัติ วิสัญญีแพทย์ไม่สามารถแทงเข็มในตำแหน่งที่ดีที่สุดจากภาพที่ได้เนื่องจากหัวตรวจอัลตร้าซาวด์ขวางตำแหน่งเข็มอยู่ แต่ PASS จะช่วยให้แทงเข็มได้ตรงตามตำแหน่งที่ดีที่สุดที่ได้จากภาพอัลตราซาวด์ โดยยังรักษาตำแหน่ง มุมองศาของเข็ม ความลึกในการแทงเข็มให้พอดีไม่ชนกระดูกหรือเส้นเลือดภายใน” รศ.พญ.เกศชาดา กล่าว
PASS มีส่วนประกอบ 2 ส่วน ได้แก่ “กรอบ” ที่ถูกออกแบบมาให้มีขนาดพอดีกับหัวตรวจของเครื่องอัลตราซาวด์ และ “ช่องนำเข็ม” ใช้ควบคุมทิศทางของเข็มที่จะเจาะเข้าสู่น้ำไขสันหลัง ซึ่งส่วนนี้จะใช้แล้วทิ้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่กรอบสามารถนำกลับมาฆ่าเชื้อโรคแล้วใช้ซ้ำได้ 10 ครั้ง
รศ.พญ.เกศชาดา เล่าถึงวิธีการใช้งานอุปกรณ์ PASS ร่วมกับเครื่องอัลตราซาวด์เป็นลำดับขั้นตอน ดังนี้
ประกอบชิ้นส่วนกรอบและช่องนำเข็มของ PASS ที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคเข้าด้วยกัน
นำ PASS สวมเข้ากับหัวตรวจของเครื่องอัลตราซาวด์
สแกนอัลตราซาวด์ จนได้ตำแหน่งที่มองเห็นช่องน้ำไขสันหลังแล้ว
หยุดภาพเพื่อวัดระยะการแทงเข็มจากภาพบนจออัลตราซาวด์
ปลดหัวตรวจเครื่องอัลตราซาวด์ออกจากกรอบของ PASS
สอดเข็มผ่าน “ช่องนำเข็ม” ซึ่งจะนำเข็มไปสู่เป้าหมายอัตโนมัติ (แทนการลากเส้นบนผิวหนังผู้ป่วย) เข็มจะเดินทางเข้าผิวหนังสู่ช่องน้ำไขสันหลังจนได้ความลึกตามที่วัดไว้
ค่อยๆ ขยับกรอบ PASS ออก ระวังอย่าให้เข็มขยับ
ดูดน้ำไขสันหลังจากจุดที่แทงเข็มได้
PASS กับดีไซน์เด่น 4 ประการ
PASS เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของวิสัญญีแพทย์เมื่อต้องบล็อกหลังใส่ยาชา และแพทย์ทั่วไป หรือแพทย์ในสาขาประสาทวิทยาที่ต้องวินิจฉัยโรคโดยการเจาะน้ำไขสันหลัง
รศ.พญ.เกศชาดา สรุปจุดเด่นของอุปกรณ์ PASS 4 ประการ คือ
Safety – PASS ผลิตจากวัสดุ nontoxic material: medical grade resin ที่ได้รับมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ น่ำหนักเบาและมีความปลอดภัย
Ergonomic design – ออกแบบมาให้ใช้งานง่ายกับอัลตราซาวด์
Accessible price – ราคาจับต้องได้ กรอบของ PASS สามารถใช้ซ้ำได้โดยนำไปฆ่าเชื้อหลังจากใช้งานเสร็จแล้ว ช่วยลดขยะและประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ช่องนำเข็ม ซึ่งเป็นส่วนที่สัมผัสกับเข็มโดยตรง และมีการปนเปื้อน จึงต้องใช้แล้วทิ้ง
Distribution – สามารถร่วมมือกับบริษัทเครื่องอัลตราซาวด์ เพื่อออกแบบ PASS ให้ขนาดพอดีกับหัวตรวจอัลตราซาวด์ ในแต่ละรุ่นได้ อีกทั้งยังผลิตง่ายไม่ซับซ้อนสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ไว
อย่างไรก็ตาม PASS ก็มีข้อจำกัดอยู่บางประการ
“เครื่องอัลตราซาวด์แต่ละรุ่นของแต่ละบริษัทมีลักษณะหัวตรวจที่แตกต่างกัน เราจึงต้องสร้างโมเดลที่ขนาดพอดีกับหัวตรวจแต่ละรุ่น นอกจากนี้ เรายังต้องพัฒนาปรับดีไซน์อุปกรณ์ให้สามารถกำหนดจุดให้แม่นยำขึ้นไปอีก เนื่องจากปัจจุบัน ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่เล็กน้อย” รศ.พญ.เกศชาดา ชี้แจง
นำร่องใช้ PASS ที่จุฬาฯ เพื่อการรักษาที่ปลอดภัย
PASS เป็นต้นแบบอุปกรณ์การแพทย์ในที่ประชุมนานาชาติของวิสัญญีแพทย์เมื่อปลายปี 2563 และจากนั้นเป็นต้นมา วิสัญญีแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็ได้ใช้ PASS กับผู้ป่วยที่บล็อกหลังยาก หรือคาดว่าจะแทงเข็มไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ PASS ยังเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ฝึกสอนนิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 6 ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดยฝึกการใช้งานกับร่างอาจารย์ใหญ่
ปัจจุบัน คณะผู้วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ PASS มีแผนจะขยายการใช้ประโยชน์อุปกรณ์นี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วยการต่อยอดเข้าสู่รูปแบบธุรกิจ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Universityt Technology Center: UTC)
“ทีมงานได้จดแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และยื่นขออนุสิทธิบัตร PASS ตั้งแต่กันยายน 2564 และได้มอบให้บริษัท Medgateways เป็นผู้ดูแลการผลิตและพัฒนาดีไซน์ของ PASS ซึ่งได้วางจำหน่ายในราคาประมาณ 2,000 บาท/ชุด ซึ่ง PASS 1 ชุดประกอบด้วย กรอบ 1 อัน และช่องนำเข็ม 10 ชิ้น” รศ.พญ.เกศชาดา กล่าว
ในอนาคต ทีมงานกำลังจะผลิตอุปกรณ์ PASS ที่สามารถใช้กับอัลตราซาวด์ที่ต่อเข้ากับโทรศัพท์เคลื่อนที่ /แท็บเล็ต ซึ่งจะทำให้แพทย์ทำหัตถการได้ปลอดภัยและสะดวกยิ่งขึ้น และจะเปิดอบรมการใช้ PASS แก่นักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ต่างๆ
“เราหวังว่า PASS จะเป็นเครื่องมือให้แพทย์ในการช่วยผู้ป่วยได้แม่นยำยิ่งขึ้น และช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงการรักษาที่ปลอดภัยได้ในอนาคต” รศ.พญ.เกศชาดา กล่าวทิ้งท้าย
สนใจสอบถามรายละเอียดการใช้งาน PASS ติดต่อ รศ.พญ.เกศชาดา เอื้อไพโรจน์กิจ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ชั้น 9 ถนนพระราม4 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2256-4000 ต่อ 60904-9 Email: Ketchada.U@chula.ac.th
สำหรับโรงพยาบาล หน่วยงานทางการแพทย์ หรือบริษัทที่สนใจใช้งาน PASS เพื่อเพิ่มความสำเร็จในการเจาะน้ำไขสันหลังและลดความเสี่ยงแก่ผู้ป่วย สามารถติดต่อบริษัท Medgateways ผู้ผลิตและจำหน่าย PASS ที่อยู่: 222/113 ถนนเทพารักษ์ ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 10540 โทรศัพท์: 084-754-9493 เว็บไซต์: http://www.medgateways.com/pass
Discussion about this post