“DESCENDERE” ทีมนักเรียนตัวแทนจากโรงเรียนอัสสัมชัญ สามารถคว้าแชมป์โลกการแข่งขัน CANSAT COMPETITION 2022 ณ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9-12 มิถุนายน ได้สำเร็จ โดยทำคะแนนในรอบตัดสินได้ 86.2185% เอาชนะทีม PWR AEROSPACE จาก โปแลนด์ ในอันดับสอง ที่ทำคะแนนได้ 85.6587%
สำหรับการแข่งขัน Annual CanSat Competition 2022 เป็นการแข่งขันดาวเทียมจิ๋ว (Cansat) ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยมีทีมตัวแทนจากประเทศต่างๆ จากทั้งสิ้น 23 ทีม เข้ารอบชิงชนะเลิศ จาก 11 ประเทศทั่วโลก เพื่อคัดเลือกหาผู้ชนะเลิศ ระหว่างวันที่ 9-12 มิ.ย.2565 ณ เมือง Blacksburg รัฐ Virginia ประเทศสหรัฐอเมริกา
สมาชิก ทีม Descendere ได้แก่ ปิติภูมิ อาชาปราโมทย์ กฤษฎา สิงหะคเชนทร์ ธรรศวริทธิ์ เครือคล้าย นุชิต วิจิตรกิจจา กิตติภณ อมรประเสริฐกิจ สุวิจักขณ์ ปิยะนพโรจน์ ฆฤณ กวีวงศ์สุนทร และอัคคนิรุทธิ์ ปานเดช โดยมี อาจารย์ที่ปรึกษา Joshua Staubs, Ph.D.
ส่วนสมาชิก ทีม Gravity ได้แก่ พุทธิพงศ์ สวัสดิบุญหนา, ริชภูมิ อุดมพรวิรัตน์, กฤตยชญ์ สวิง, กฤตวัฒน์ ปุญญพัฒนกุล, เวธน์วศิน ศิริรัตน์อัสดร, ศุภวิชญ์ แก้วนิรัตน์, ณรงค์ภัทร ราศรีเพ็ญงาม, บุญฤทธิ์ ปฐมนันทพงศ์, พศิน ตันติรัฐพงศ์ อาจารย์ที่ปรึกษา ได้แก่ ดร.พีระเมศร์ โชติกวีกิจญาดา, มาสเตอร์ พชร ภูมิประเทศ, มาสเตอร์ณัฐกิตติ์ ขวัญกิจพิศาล
สำหรับตัวแทนจากไทยนั้น นอกจากทีม Descendere ที่ได้อันดับหนึ่งแล้ว ยังมีทีม Gravity จบการแข่งขันในอันดับ 7 ด้วยคะแนน 66.4924% จากผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้น 23 ทีม ที่ผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้น จนได้รับอนุญาตให้ปล่อยดาวเทียมกระป๋องดังกล่าวขึ้นสู่ท้องฟ้าได้
ดาวเทียมจิ๋ว คือ การย่อส่วนดาวเทียมจริงลงมาให้เล็ก ๆ เพื่อให้ราคาถูกลง และคนทั่วไปที่มีทุนไม่มาก แต่สนใจวิศวกรรมสามารถลองทำได้ ดาวเทียมจิ๋วต่าง กับ ดาวเทียมจริง ตรงที่ดาวเทียมจิ๋วจะไม่ถูกยิงขึ้นวงโคจร แต่จรวดจะส่งไปที่ความสูงเกือบ ๆ 1 กิโลเมตร แล้วปล่อยดาวเทียมจิ๋วออกมากลางอากาศ เพื่อออกมาเก็บข้อมูลข้างนอก และตกถึงพื้นด้วยร่มชูชีพ
สำหรับ Annual CanSat Competition เป็นการแข่งขันรายการใหญ่ รายการหนึ่งที่ให้คนที่มาแข่งแต่ละปี Design Payload ตามโจทย์ที่กำหนด
Payload คือ คืออุปกรณ์ที่ดาวเทียมใช้ทำภารกิจ เช่น ถ้าภารกิจหลักของดาวเทียม คือ เพื่อถ่ายภาพ Payload จะเป็นกล้องที่ใช้เก็บภาพ โดยปีนี้เค้าให้โจทย์มาเป็น Tethered Payload คือ Payload ที่ต้องใส่ไว้ในภาชนะทรงกระบอก และจะดีดตัวออกมาพร้อมเชือกยาว 10 เมตร ซึ่งการจะทำระบบปล่อยเชือกความยาวขนาดนี้ไว้ในดาวเทียมจิ๋วที่พื้นที่จำกัดมาก ๆ เป็นเรื่องท้าทายสำหรับการแข่งขัน
นายธรรศวริทธิ์ เครือคล้าย ตัวแทนของ ทีม DESCENDERE เล่าให้ฟังว่า การทำงานทีม DESCENDERE จะแบ่งเป็น 3 แผนกใหญ่ ๆ ประกอบด้วย ฝ่ายในการดูแลการทำโมเดล 3 มิติ, ฝ่ายอิเล็กทรอนิกส์ และฝ่ายโปรแกรมเมอร์ ซึ่งการเตรียมการก่อนเข้าแข่งขันใช้ระยะเวลาประมาณ 9 เดือน
ปัญหาและอุปสรรคที่พบ คือ การทำดาวเทียมจิ๋ว (Cansat) เป็นงานทำมือ การควบคุมคุณภาพอย่างละเอียด เป็นเรื่องยากมาก แต่ทีมเราก็พยายามทำให้แต่ละลูกใกล้เคียงกันที่สุด ซึ่งปัญหาที่เจอระหว่างการแข่งขัน Payload ที่ตั้งไว้ให้ปล่อยตัว หลังโดนดีดออกจากจรวด แต่เกิด error ปล่อยตัวตั้งแต่อยู่ในจรวดเลย เพราะมีปัญหาเรื่อง การลดตอนวัดความสูง ซึ่งเราก็ไม่ได้มองว่ามันคือความล้มเหลว เรามองว่ามันเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เรียนรู้มากกว่า
นายกิตติภณ อมรประเสริฐกิจ ตัวแทนของ ทีม DESCENDERE ได้เพิ่มเติมสิ่งที่พวกเขาได้จากการแข่งขันว่า สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมการแข่งขัน เรื่องแรก คือ เรื่องวิชาการ เพราะต้องใช้หลาย ๆ เครื่องมือที่ทีมไม่เคยใช้ อย่างโปรแกรม CAD ไว้ปั้นโมเดลสามมิติ
ถ้าไม่มาทำงานนี้ก็น่าจะยากที่เด็กมัธยมอย่างจะใช้เป็น รวมไปถึงการศึกษา งานวิจัย เพื่อนำมาข้อมูลในการทำงาน อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การได้รู้ว่าจริง ๆ รอบตัวเรามีคนเก่งอยู่เยอะมาก และต้องพัฒนาตัวเองต่อไป
Discussion about this post