ผ่านพ้นมาไม่นานสำหรับ “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ตรงกับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือ วันสงกรานต์ คือวันที่ 13 เมษายนของทุกปี วันสำคัญที่ชักชวนให้คนไทยหันมาใส่ใจผู้สูงอายุมากขึ้น ยิ่งเฉพาะในปี 2565 นี้ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ระบุว่าเป็นปีที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” เนื่องจากมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ดังนั้นการเร่งปรับตัว และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุมีความสำคัญอย่างมาก
ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนา “ระบบดูแลผู้พักอาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัย หรือ Well-Living Systems” เพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ลูกหลานดูแลผู้สูงอายุได้อย่างปลอดภัยและอุ่นใจมากขึ้น
ดร.สิทธา สุขกสิ นักวิจัยทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยเอ็มเทคได้พัฒนาระบบ Well-Living Systems ที่จะเข้ามาเป็น “ผู้ช่วย” ของลูกๆ หลานๆ ในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้านภายใต้แนวคิด “ทุกคนที่บ้านสบายดี (All is well at home)” เพื่อสร้างความอุ่นใจให้ทั้งผู้ใหญ่ที่บ้านและลูกหลานที่ต้องออกไปทำงาน โดยระบบมีศูนย์กลาง LANAH (Learning and Need-Anticipating Hub) ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ LANAH AI (Artificial Intelligence) ที่สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย และแจ้งเตือนผู้ดูแลเมื่อผู้สูงอายุเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ผ่านแอปพลิเคชัน LANAH App เพื่อช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย
“ระบบจะทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ (Sensors) ที่ไม่มีกล้อง ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย เพราะทีมวิจัยมุ่งหวังให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เน้นสร้างความมั่นใจว่าหากมีเหตุฉุกเฉินจะมีผู้เข้ามาช่วยเหลือได้ทันที เป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย สร้างความสบายใจ ลดการพึ่งพาผู้ดูแล สนับสนุนการเป็น “สูงวัยอย่างมีคุณภาพ หรือ Active aging” ให้ได้นานที่สุด”
ดร.สิทธา กล่าวว่า สำหรับการทำงานของระบบแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. กรณีไม่ฉุกเฉิน ใช้ AI เรียนรู้รูปแบบพฤติกรรมกิจวัตรประจำวันของผู้อยู่อาศัยเพื่อบ่งบอกถึงปัญหา ซึ่งมีตัวอย่างอุปกรณ์ 4 ระบบในแอปพลิเคชัน ได้แก่ 1) Occupancy sensor เครื่องมือสังเกตการณ์บุคคลที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ของบ้าน เรียนรู้พฤติกรรมการใช้เวลาในบ้านของผู้อยู่อาศัย เช่น ช่วงสายวันอาทิตย์มักมีคนอยู่ในครัว 2) Door sensor เรียนรู้พฤติกรรมการเปิด-ปิดประตูต่างๆ เช่น ปกติประตูห้องน้ำถูกเปิดกี่ครั้งในช่วงดึก 3) Gate sensor ใช้สังเกตระยะเวลาการเข้าไปแต่ละพื้นที่ เช่น ระยะเวลาการอยู่ในห้องน้ำปกติหรือนานกว่าปกติ และ 4) Logger ปุ่มกดช่วยบันทึกเวลาการทำกิจกรรม เช่น เวลากินยา และช่วยเตือนเมื่อผู้อยู่อาศัยอาจลืม ด้วยการส่งเสียงผ่าน Wireless Speakers
“ส่วนกรณีฉุกเฉินมีอุปกรณ์ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม ได้แก่ 1) Emergency Button ปุ่มฉุกเฉินขนาดเล็กที่พกพาได้สะดวก ใช้ขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลที่อยู่ไกล 2) Bell กระดิ่งเรียกคนอื่นในบ้าน และแจ้งเตือนเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลที่อยู่ไกล 3) Fall detection sensor ช่วยตรวจจับเมื่อผู้อยู่อาศัยเกิดการหกล้ม เป็นอุปกรณ์รูปแบบสวมใส่ หรือติดผนังแบบไม่มีกล้อง เหมาะใช้งานในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ห้องน้ำ และแจ้งเตือนเพื่อขอความช่วยเหลือ 4) Check-In ผู้อยู่อาศัยใช้ทักทายคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่อยู่ไกลแบบเงียบๆ ไม่รบกวนเวลา 5) Wireless Speakers ลำโพงไร้สายที่วางได้ทุกที่ในบ้านทำงานร่วมกับ LANAH App เพื่อช่วยให้ผู้อยู่อาศัยได้รับฟังข้อความเสียงจากผู้ดูแลที่อยู่ไกลมาที่บ้านในกรณีฉุกเฉิน”
ดร.สิทธา กล่าวว่า ปัจจุบันระบบ LANAH App และอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ในขั้นตอนการทดลองในห้องปฏิบัติการและขยายผลสู่ภาคสนาม ซึ่งกำลังมองหาพาร์ทเนอร์เพื่อทดสอบการใช้งานจริง โดยคาดว่าจะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ทั้งนี้ตัวระบบนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลายแบบ เช่น บ้านผู้สูงอายุ คอนโดที่มีผู้อยู่อาศัยคนเดียว สถานดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาล ซึ่งหวังว่าระบบที่พัฒนาขึ้นจะเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาผู้ดูแล และช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในที่พักอาศัยที่อุ่นใจและปลอดภัย
นับเป็นตัวอย่างผลงานการวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยไทยจาก สวทช. ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตพึ่งพาตนเองได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข สอดคล้องกับนโยบายโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) วาระแห่งชาติ ที่มุ่งส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยและเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Discussion about this post