เพราะการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาด้าน Health Technology ตามกรอบนโยบายการส่งเสริมสนับสนุน ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุข และสุขภาพ จึงส่งผลให้ประเทศไทย สามารถมีนวัตกรรมจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวล้ำมาอย่างต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะในวงกว้าง
โครงการ ICT ก้าวล้ำเจ็บป่วยรู้ทันอุ่นใจยั่งยืน : การวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศประยุกต์เพื่อการวินิจฉัยการเจ็บป่วยเบื้องต้น โดยมี ผศ.ดร.อรวิชย์ ถิ่นนุกูล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการฯ คือ หนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับการรวบรวมการวิเคราะห์ลำดับอาการเจ็บป่วย จำนวน 54 กลุ่มอาการสำคัญ ระบบจะให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการดูแลตนเอง หรือการรักษาอาการขั้นเบื้องต้น ช่วยให้ผู้ใช้งานมีแนวทางการรักษาตนเองอย่างถูกต้อง ภายใต้ชื่อ Smart ICT MED
เพราะต้องการที่จะแก้ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ และช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข คือ แรงบันดาลใจสำคัญที่จุดประกายให้ ดร.อรวิชย์ และคณะผู้วิจัยได้นำโครงการยื่นขอรับการสนับสนุน
โดยทางคณะผู้จัดทำโครงการได้รับทราบข่าวประชาสัมพันธ์จากเว็บไซต์ https://defund.onde.go.th ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถึงการเปิดให้ยื่นขอรับการสนับสนุนทุนตามมาตรา 26 (1) และ (2) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จึงนำโครงการเข้ายื่นขอรับการสนับสนุนทุน และได้รับการอนุมัติ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ซึ่งขณะนี้ได้สิ้นสุดโครงการแล้ว
“ ในการยื่นข้อเสนอโครงการฯนั้น ได้ศึกษาถึงระเบียบแนวทางต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้กำหนด โดยสิ่งสำคัญ คือ ต้องชัดเจนว่าจะสร้างประโยชน์อย่างไร และต้องสอดคล้องกับกรอบนโยบายการให้ทุน รวมถึงต้องมีความยั่งยืน” ดร.อรวิชย์ กล่าว
สำหรับการดำเนินโครงการฯ ดร.อรวิชย์ อธิบายในภาพรวมว่า ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น วิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นผู้ดำเนินการจัดทำอ้างอิงการคัดแยกลำดับอาการ บนฐานองค์ความรู้ทางการแพทย์ดัดแปลงและประยุกต์แนวลำดับอาการจาก Wolters Kluwer Clinical Drug Information (2020) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ได้รับการอนุญาตจากผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการที่ ทั้ง Google play และ App Store ให้เผยแพร่ได้
การใช้งานที่ง่าย และสะดวก ถือเป็นความโดดเด่นของแอป Smart ICT MED ทำให้ผู้ใช้งานสามารถประเมินอาการเบื้องต้นได้ง่าย มีความเจ็บป่วยด้วยโรคอะไร 54 กลุ่มอาการสำคัญ ด้วยมีทั้งฟังก์ชั่นให้คำแนะนำจากกลุ่มอาการความเจ็บป่วย ฟังก์ชั่นสำหรับเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน ช่วยทำให้ทราบประวัติการเจ็บป่วย ฟังก์ชั่นการส่งออกข้อมูลที่ช่วยให้ทราบอาการที่เกิดขึ้นชัดเจน ผ่าน Line และฟังก์ชัน สำหรับการให้คำแนะนำเพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง สำหรับดูแลตัวเอง หรือการเตรียมความพร้อมเข้ารับการรักษา และฟังก์ชันสำหรับค้นหาสถานพยาบาลใกล้เคียง เป็นต้น
อีกทั้งประชาชนสามารถเข้าไปใช้งานได้ง่าย เพียงเข้าไปดาวน์โหลดแอป Smart ICT MED ได้ ทั้งในระบบ iOS และ Android จากนั้นดำเนินการลงทะเบียนใช้งานตามข้อแนะนำที่กำหนด
Smart ICT MED จึงเป็นแอพพลิเคชั่นที่เหมาะสำหรับการดาวน์โหลดเก็บไว้ ช่วยให้อุ่นใจใอเจ็บป่วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจได้ดาวน์โหลดและใช้งานแล้วมากกว่า 10,000 ครั้ง
“ สำหรับเป้าหมายต่อไป คณะผู้วิจัย มีเป้าหมายที่จะดำเนินการพัฒนาเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างยั่งยืน ด้วยการอัพเกรดข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงการเพิ่มฟังก์ชั่นต่างๆให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยทั้งประเทศ” ดร.อรวิชย กล่าวทิ้งท้าย
แอป Smart ICT MED ภายใต้โครงการ ICT ก้าวล้ำเจ็บป่วยรู้ทันอุ่นใจยั่งยืนฯ คือ อีกหนึ่งผลของการพัฒนาประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย ภายใต้การสนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรตามวิสัยทัศน์ “เป็นกองทุนชั้นนำในการผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล”
Discussion about this post