“แพะ” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capra aegagrus hircus เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องคล้ายวัว มีกระเพาะหมัก ซึ่งอาศัยจุลินทรีย์ที่อยู่ภายในย่อยอาหารและสังเคราะห์วิตามิน การเลี้ยงแพะส่วนใหญ่จะนำเนื้อไปเป็นอาหาร ในส่วนของขนแพะนั้นจะเป็นวัสดุเหลือทิ้งและจะมีปริมาณมากขึ้นตามจำนวนแพะที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในส่วนของ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากแพะ (การสกัดแยกกลิ่นและศึกษา Male Pheromone จากขนแพะเหลือทิ้ง) โดยประสบผลสำเร็จนำนวัตกรรมการสกัดขนแพะมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางในอนาคต โดยผลิตภัณฑ์น้ำหอมที่พัฒนาสำเร็จมีกลิ่นเฉพาะตัว โดดเด่น และลอกเลียนแบบยาก
ในการวิจัยและพัฒนาสกัดสารจากขนแพะ วว. พบว่า มีกลิ่นหอมที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นน้ำหอมได้ เนื่องจากมีกรดไขมัน (Fatty acid) สูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxident) สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมได้ประมาณ 9 กลิ่น ดังนี้ กลิ่นสำหรับผู้หญิง 7 กลิ่น ได้แก่ กลิ่น แจ้สซี่ (แจสมิน) โรเซ่ (โรส) ฟลาวเวอร์เล็ท (ซ่อนกลิ่น) วิลาเต้ (วิลัย) ลักซ์ สำหรับสาวมั่น สดชื่อ ร่าเริง พีเอฟวัน หรือกลิ่นไม้กฤษณา และกลิ่นสำหรับผู้ชาย 2 กลิ่น ได้แก่ กลิ่น Bazz ถือเป็น ตัวท็อป เพราะมีกลิ่นหอมล้ำลึก นุ่มนวลกว่าทุกๆกลิ่น และกลิ่นสมุนไพรหอม ซึ่งยังไม่ได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ ขณะนี้ วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป หรือยินดีเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการเพื่อทำน้ำหอมเฉพาะส่วนบุคคล
ความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำหอมจากขนแพะ HIRCUS เป็นผลจากการลงพื้นที่ของ วว. ณ จังหวัดกระบี่ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาชุมชน ตามนโยบายดำเนินงาน Area Based ของ วว. แล้วได้โจทย์ขนแพะที่เป็นขยะเหลือทิ้ง ผ่านการนำเสนอความต้องการของพื้นที่โดย นายชวน ภูเก้าล้วน ประธานกรรมการบริษัท ศรีผ่องพานิช จำกัด ที่ระบุว่าโดยทั่วไปขนแพะจะถูกกำจัดโดยวิธีเผาทิ้งอย่างเดียว ซึ่งก่อผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม
ในการดำเนินโครงการฯ คณะวิจัยนำขนแพะจากจังหวัดกระบี่ สตูล และนครราชสีมา มาเป็นวัตถุดิบหลัก ใช้แพะ 3 สายพันธุ์คือ ชามี่ ชานัน และบอร์ โดยใช้พันธุ์บอร์เป็นหลัก เนื่องจากให้กลิ่นหอมแรงและระยะเวลานาน ในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องใช้ขนแพะปริมาณ 100 กรัม จะได้สารสกัด 0.5 มิลลิกรัม ผลิตเป็นน้ำหอมได้ 3 ขวด ส่วนการพัฒนาต่อจากนี้จะนำสิ่งที่เหลืออยู่ ได้แก่ ขนแพะที่เหลือจากการสกัดสารออกแล้ว หรือขนแพะที่สะอาดแล้ว ทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรงปัดแก้มขนแพะ ซึ่งมีราคาแพงในตลาดต่างประเทศ และอาจพัฒนาการใช้ประโยชน์ในรูปแบบเทคโนโลยีเอนแคปซูเลชัน (encapsulation technology) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดย ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากโครงการวิจัยนี้สามารถนำกลับไปใช้ในพื้นที่ เนื่องจากโครงการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนในจังหวัดกระบี่ เช่น นำไปใช้ในกิจการโรงแรมและสถานประกอบการต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้หากมีการนำผลิตภัณฑ์น้ำหอมจากขนแพะมาใช้แพร่หลาย จะทำให้เกิดความต้องการจากท้องถิ่นและทำให้ขนแพะมีมูลค่าสูงสามารถจำหน่ายได้ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมนโยบาย BCG ในการเป็น Circular Economy ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้ง และทำให้เกิดผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ มีคุณค่า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของประเทศ เพื่อการแข่งขันกับนานาชาติ และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่เป็น Green Economy ในนโยบาย BCG ของรัฐบาลอย่างเป็นรูปแบบและยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2577-9000 E-mail : tistr@tistr.or.th เว็บไซต์ www.tistr.or.th
Discussion about this post